วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติ ของ ถ้ำพญานาค

หนองคายเมืองพญานาค
       จังหวัดหนองคายได้ชื่อว่าเป็น“เมืองพญานาค” เพราะมีความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่าขาน และเหตุการณ์ประหลาดเกี่ยวกับพญานาค(ตามความเชื่อของชาวบ้าน) เกิดขึ้นในเมืองนี้มากมาย ที่โด่งดังที่สุดคงจะหนีไม่พ้น ปรากฏการณ์“บั้งไฟพญานาค” อันลือลั่น
      
       บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์สุดพิศวงที่ในทุกๆค่ำคืนวันออกพรรษากลางลำน้ำโขงในจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะที่ อ.โพนพิสัย จะเกิดลูกไฟประหลาดลักษณะกลมๆ สีแดงอมชมพู ไม่มีควัน ไม่มีกลิ่น พวยพุ่งขึ้นมาจากใต้น้ำ สร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็น
      
       ณ วันนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นจากอะไร ธรรมชาติ(ความเชื่อนี้ปัจจุบันได้รับการยอมรับในวงกว้าง) มนุษย์ทำ หรือ พญานาคทำ!?! แต่ในปัจจุบันปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคได้พ่นเม็ดเงินมหาศาลสู่จังหวัดหนองคายในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ที่นับได้ว่าพญานาคได้ให้คุณในงานบุญออกพรรษาอย่างแท้จริง
ปากทางเข้า(ลง)ถ้ำดินเพียง
       นอกจากเรื่องบั้งไฟพญานาคแล้ว หนองคายยังมีความเชื่ออื่นๆออกมาตอกย้ำความเป็นเมืองพญานาคอีก ที่เด่นก็มี
      
       -ความเชื่อว่า ใต้ลำน้ำโขงช่วงเขต จ.หนองคายและเมืองเวียงจันทน์ในสปป.ลาวลาวนั้น ในอดีตเป็นเมืองบาดาล สร้างและปกครองเมืองโดยพญานาค สามารถไปมาหาสู่กันได้
      
       -ความเชื่อว่า ในเขต อ.โพนพิสัย จุดที่พบบั้งไฟมากที่สุด มีเมืองบาดาลอยู่และเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ของพญานาค
      
       -ความเชื่อว่า ที่แก่งอาฮง จ.บึงกาฬ(อ.บึงกาฬเดิม) เป็นเมืองหลวงของพญานาค เนื่องจากเป็น “สะดือแม่น้ำโขง”หรือส่วนที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับ“วังนาคินทร์”เมืองพญานาคที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ได้
      
       สำหรับเรื่องราวเหล่านี้ แม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่พิสูจน์ไม่ได้(ใครไม่เชื่อก็ไม่ควรหลบลู่) แต่ก็สามารถสร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวให้กับหนองคายได้ดีพอสมควร ซึ่งในจังหวัดหนองคายมีวัดและธรรมชาติที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องผูกโยงกับพญานาคอยู่หลายแห่งด้วยกัน
ลุงคำสิงห์ชี้ให้ชมหินในถ้ำ
       นั่นรวมไปถึง “ถ้ำดินเพียง”หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “ถ้ำพญานาค” แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานในอำเภอสังคมด้วย
      
       ถ้ำดินเพียง ตั้งอยู่ที่ วัดถ้ำศรีมงคล บ้านดงต้อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม เหตุที่ถ้ำนี้มีชื่อว่าถ้ำดินเพียง ก็เพราะเป็นถ้ำใต้ดิน ปากทางเข้าอยู่เสมอดินในระดับปกติ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า“ถ้ำดินเพียง”
      
       ส่วนเพตุที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า”ถ้ำพญานาค”นั้น ต้องไปฟังจากคำบอกเล่าของ ลุงคำสิงห์ เกศศิริ ผู้ที่นอกจากจะมาเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวชมภายในถ้ำแล้ว ยังเป็นผู้ค้นพบถ้ำแห่งนี้อย่างเป็นทางการอีกด้วย
      
       “สมัยก่อนพวกล่าสัตว์เล่ากันว่า เวลาไล่ตามเก้งกวางมาถึงแถวนี้ จู่ๆพวกมันก็หายไป ตอนนั้นไม่มีใครกล้าตามต่อ เพราะกลัวสิ่งลี้ลับ เนื่องจากสมัยก่อนที่นี่เป็นป่ารก”
      
       ลุงคำสิงห์ ก่อนรำลึกความหลังถึงประสบการณ์ตรงของแกว่า หลังจากแกเข้ามาถากถางทำไร่ในที่แห่งนี้ ในปี 2530 วันหนึ่งลุงเห็นสัตว์ออกมาหากิน พอเข้าไปใกล้ มันก็หายลงหลุมไป พร้อมๆกับที่มีค้างคาวบินออกมาจากหลุม ลุงคำสิงห์เอะใจว่า มันน่าจะมีถ้ำอยู่ข้างใน จึงชวนพรรคพวกลงไปสำรวจ เจอโพรงถ้ำเป็นห้องและคูหามากมาย
      
       “ในถ้ำมีห้อง มีช่องทางเยอะมาก ซับซ้อนเหมือนเขาวงกต ทำให้หลงได้ง่ายๆ พวกจึงเราต้องขึ้นมาเตรียมตัว แล้วลงไปสำรวจใหม่ นำเชือกผูกโยงกันไป มีคนนึงคอยเฝ้าปากถ้ำ เพื่อกันหลง เพราะถ้าหลงก็ให้กลับมาตามเส้นเชือก”
มีคนนำรูปเคารพพญานาคมาไว้ตั้งให้บูชา
       ลุงคำสิงห์เล่าให้ฟัง พร้อมกับบอกว่า หลังจากนั้นก็มีทีมพากันลงไปสำรวจ ลงไปติดไฟ เพื่อปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว และก็มีคนทยอยมาเที่ยวกันอยู่เรื่อยๆ
      
       สำหรับสาเหตุที่มีคนเรียกถ้ำดินเพียงว่า“ถ้ำพญานาค”นั้น มาจากตำนานความเชื่อว่า ที่นี่เป็นทางเข้า-ออกของธิดาพญานาค ซึ่งมาหลงรักเจ้าชายของเมืองนี้บนโลกมนุษย์ แต่ครั้นพอถึงวันออกพรรษา ธิดาพญานาคต้องกลับสู่เมืองบาดาลเพื่อไปเล่นน้ำกับพญานาคด้วยกัน จนสุดท้าย
       เจ้าชายตามมาพบ รู้ว่าคนรักของตนเป็นพญานาคจึงขอตัดขาดจากกันที่ถ้ำแห่งนี้
      
       จากเรื่องเล่าโบราณมาถึงเรื่องเล่าปัจจุบันบ้าง
      
       ลุงคำสิงห์บอกว่า หลังจากพบถ้ำแล้วลุงแกก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ วันหนึ่งมาทำไร่ งีบหลับแถวนี้ ก็ฝันว่ามีพญานาคตัวสีเหลืองใหญ่ ยาว ขึ้นมาจากแม่น้ำโขง บอกให้ลุงช่วยเฝ้าดูแลรักษาถ้ำ เพราะเคยเป็นคนเฝ้าถ้ำแห่งนี้มาก่อนเมื่อชาติที่แล้ว
      
       “ตอนแรกลุงแกไม่เชื่อ ไม่กี่วันก็เป็นไข้ป่า รักษาหมอปัจจุบันไม่หาย ลุงเลยไปหาหมอนั่งทางใน เขาบอกให้ขอขมา พอลุงทำตามก็หาย เลยมาช่วยดูแลถ้ำ คอยพาคนลงไปเที่ยวชมถ้ำ” ลุงคำสิงห์เล่าให้ฟัง
เส้นทางลุยน้ำ มุด คลาน ภายในถ้ำ
       นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางสู่เมืองพญานาค ที่สามารถเดินทางไปใต้ลำโขง ไปๆมาๆระหว่างหนองคายกับเวียงจันทน์ได้ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางที่พระธุดงด์จากลาวใช้ข้ามฝั่งลอดใต้แม่น้ำโขงเข้ามายังเมืองไทย เป็นถ้ำที่ต้องเป็นพระผู้ทรงศีลอันแก่กล้าเท่านั้นจึงจะเห็นเส้นทางสัญจรดังกล่าว
      
       อนึ่งในเรื่องเล่าเหล่านี้ใครจะเชื่อหรือไม่ก็สุดแท้แต่ แต่ว่าในสภาพธรรมชาตินั้น ถ้ำดินเพียงมีความประหลาดน่าสนใจอยู่มากโข โดยหลังจากที่ผมตามลุงคำสิงห์เข้าปากถ้ำแคบๆเสมอลงไปสู่ภายในถ้ำก็ตื่นตะลึงในสิ่งที่เจอ
เดินลุยน้ำครึ่งแข้ง
       ภายในถ้ำแห่งนี้ไม่ได้มีหินงอกหินย้อยหรือโถงกว้างใหญ่มากมาย แต่กลับมีห้อง โพรง ช่อง ซอก ซอย รู อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินที่เต็มด้วยส่วนโค้ง ส่วนเว้า จำนวนมากนับเป็นพันๆ ในหลายช่องทางให้เราสามารถใช้สัญจรทะลุเชื่อมถึงกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ
      
       แต่ประทานโทษ!!! ช่องทางอันซอกซอนเหล่านี้มันมีขนาดแค่ใหญ่กว่าตัวคนเล็กน้อย ซึ่งดูๆไป มันช่างคล้ายเส้นทางการเลื้อยของพญานาคยิ่งนัก(ถ้าโลกนี้มีพญานาคจริง)
กองดินที่นักท่องเที่ยวทำขึ้นมา
       เท่านั้นยังไม่พอ ส่วนใหญ่ของช่องทาง ห้อง คูหา มากมายเหล่านี้ ยังมีสายน้ำตื้นๆไหลเอื่อยๆหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด เหมือนให้สัตว์ประเภทงูใหญ่เลื้อยไปมาได้สะดวกและเย็นสบาย
      
       และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมชาวบ้านถึงเรียกถ้ำดินเพียงว่า “ถ้ำพญานาค”
โพรง ห้อง ซอก ซอย มากมายคล้ายเส้นทางเลื้อยของพญานาคในถ้ำดินเพียง
       สำหรับการเที่ยวถ้ำพญานาคไม่เหมาะต่อผู้เป็นโรคไขข้อ ข้อเสื่อม หัวใจ ความดัน แต่เหมาะสำหรับผู้มีสภาพร่างกายปกติ ไม่ถึงกับต้องแข็งแรงหรือฟิตมากมาย ที่ชื่นชอบความตื่นเต้น ท้าทาย เนื่องจากการเข้าถ้ำต้องย่อ หมอบ ลอด มุด คลานสูง คลานต่ำ และแถเถือกไถเลื้อยไปดังพญานาคกันในหลายๆช่วง
เจดีย์หินก่อนถึงทางออก
       อย่างไรก็ดีในถ้ำพญานาคใช่ว่าจะมีเฉพาะเส้นทางให้แถกแถมุดคลานอย่างเดียว แต่ในถ้ำแห่งนี้ยังมี จุดเด่นๆให้ชื่นชม สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น ห้องโถง ห้องหีบศพปู่อินทร์นาคราช ช้างสามเศียร บรรลังก์พญานาค ธิดาพญานาค 3 องค์ ฯลฯ รวมถึงเจดีย์หินในบริเวณใกล้ๆทางออก ที่นอกจากจะเชื่อกันได้สร้างไว้ถวายแก่พญานาคแล้ว ยังเป็นจุดสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะล่ำลาจากถ้ำพญานาคแห่งนี้ขึ้นมาสู่พื้นดินปกติในสภาพที่ทุกลักทุเลเอาเรื่อง
บันไดทางขึ้นสู่พื้น(บน)ดินปกติ
       และด้วยความที่ถ้ำพญานาคแห่งนี้เพิ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ไม่นาน ทำให้ระบบการจัดการยังไม่พร้อม ไม่ลงตัว แต่ก็มีความดิบของธรรมชาติรอไว้สำหรับผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบลุยนิดๆ ซึ่งแม้ว่าโลกนี้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าพญานาคมีอยู่จริง แต่การได้เลื้อย แถกไถ ไปในช่องแคบๆที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลาแบบพญานาคนั้น มันถือเป็นการพิสูจน์ความอดทนและจิตใจในการต่อสู้เอาชนะกับอุปสรรคและความยากลำบากของตัวเราได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น