วัดพระธาตุลำปางหลวง
กู่พระเจ้าล้านทอง วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา ลำปาง
"กู่พระเจ้าล้านทองด้านหน้า วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง"
"กู่พระเจ้าล้านทองด้านหลัง วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง"
รายละเอียด
กู่พระเจ้าล้านทอง (ศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุม เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท) ตั้งอยู่บริเวณท้ายวิหารหลวง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปคือพระเจ้าล้านทอง ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2019 กู่นี้คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2106 หลังจากที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ใต้ปกครองของพม่า ส่วนบนของกู่เป็นแบบผสมระหว่างหลังคาลาดกับหลังคาลดชั้น องค์ประกอบต่างๆ รวมทั้งลวดลายปั้นประดับมีอยู่อย่างมากมาย แสดงให้เห็นถึงแบบแผนของงานประดับในช่วงเวลานั้นด้วย
ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา ลำปาง
"ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง"
"ลายเส้น ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง"
[อุมาพร เสริฐพรรณึก, การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง, หน้า 53]
"ภาพตัดแสดงตำแหน่งที่ตั้งสำคัญบนเนวัดพระธาตุลำปางหลวง"(1.พระธาตุเจดีย์ 2.วิหารหลวง 3.กู่พระเจ้าล้านทอง 4.ประตูโขง) [อุมาพร เสริฐพรรณึก, การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง, หน้า 45]
รายละเอียด
ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนิน มีความสูงประมาณ 13 เมตร โดยมีบันไดนาคทอดยาวเชื่อมพื้นที่ระหว่างวัดกับภายนอก ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑปมียอดแหลมซ้อนหลายชั้น โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ภายนอกฉาบด้วยปูนสีขาวแต่งลายปูนปั้นเกือบตลอด ทำเป็นช่องทางเดินด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ปากช่องทางเดินประดับซุ้มโค้งซ้อน 2 ชั้น
สิงห์ปูนปั้น ฐานชุกชี วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
"สิงห์ปูนปั้นประดับฐานชุกชี วิหารน้ำแต้มด้านขวา" [ถ่ายเมื่อ 5 มิถุนา 47]
"สิงห์ปูนปั้นประดับฐานชุกชี วิหารน้ำแต้มด้านซ้าย" [ถ่ายเมื่อ 5 มิถุนา 47]
รายละเอียด
ทั้งสองเป็นลวดลายปูนปั้นนูนสูง บริเวณตัวสิงห์ปั้นจนเกือบเป็นรูปปฏิมากรรมลอยตัว บนหลังสิงห์เป็นหม้อบูรณฆฏะ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ตำแหน่งอยู่บริเวณฐานชุกชีด้านหลังวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
ผังพื้นพระธาตุลำปางหลวง
[ที่มา : พรรณนิภา ปิณฑวณิช, การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วิทยานิพนธ์ สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546 ]
รูปด้านพระธาตุลำปางหลวง
[ที่มา : พรรณนิภา ปิณฑวณิช, การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วิทยานิพนธ์ สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546 ]
"พระธาตุลำปางหลวง ตัวแทนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล" [ภาพโดย วโรดม ศุขสวัสดิ์, หม่อมหลวง, 16 ธันวา 46]
"ซุ้มประตูโขง และรั้วรอบพระธาตุลำปางหลวง"
[ภาพโดย วโรดม ศุขสวัสดิ์, หม่อมหลวง, 16 ธันวา 46]
"บริเวณเสาเหล็ก ที่เชื่อกันว่าเป็นรอยกระสุน ของหนานทิพย์ช้าง"
[ภาพโดย ขวัญสรวง อติโพธิ, 26 มกรา 47]
รายละเอียด
พระธาตุลำปางหลวง ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ(แต่ในหนังสือพระเจดีย์ในล้านนา โดย สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ กลับเรียกว่า เจดีย์แบบพุกามล้านนา เนื่องจากมีการปิดทองจังโกคล้ายแบบพุกามนั่นเอง) ปิดทองจังโกทั่วทั้งองค์เจดีย์ รูปทรงหนักแน่น ไม่ชลูดเหมือนเจดีย์แห่งอื่นๆ รอบๆพระธาตุมีการล้อมรอบด้วยรั้วเหล็ก โคมรั้ว มีการสร้างซุ้มประตูโขงอยู่ทางทิศใต้ของพระธาตุ บริเวณรั้วเหล็กมีเรื่องเล่าถึง รอยกระสุนปืน ที่หนานทิพย์ช้างยิงปืนสังหาร ท้าวมหายศ เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 23
ปรากฏในตำนานพระธาตุลำปางหลวงที่กล่าวถึง การเสด็จมาถึงของพระพุทธเจ้า ที่บ้านลัมภะการีวัน(บ้านลำปางหลวง) เมื่อเสด็จอยู่ดอยม่อนน้อย ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่ง นาม"ลัวะอ้ายกอน" เห็นพระพุทธเจ้า เกิดมีความเลื่อมใสได้นำเอาน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง(ไม้ช้าวหลามไม้เปราะ) มะพร้าวและมะตูมอย่างละ 4 ลูกน้อมถวายพระองค์ และพระองค์ก็มอบพระเกษาและได้มีพุทธพยากรณ์ต่อไปว่า ในอนาคต จะมีพระอรหันต์นำเอาอัฐิพระนลาต(หน้าผาก)ข้างขวา และอัฐิลำคอข้างหน้าหลังมาบรรจุไว้ในนี้
โคมรั้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
"โคมรั้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง" มีลวดลายปูนปั้นประดับประดาไม่มากไม่น้อย
"โคมรั้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง"ในรูปแบบเรียบๆ ในบริเวณไม่ไกลกันนักจากโคมรั้วชุดแรก
รายละเอียด
อ.วิถี พานิชพันธ์ ได้จัดให้อยู่ในหมวดของ ประตูโขง ที่ถือว่าเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุออกมาเป็นรูปทรงสามมิติ เพื่อให้เห็นแนวคิดของจักรวาลคติสมบูรณ์ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการผ่านพ้นไปสู่มิติที่สูงขึ้นไปสู่สวรรค์วิมาน และพระนิพพาน หรือเป็นซุ้ม "สุวรรณคูหากู่คำ" อันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากการตรัสรู้ โคมรั้วนี้ประดับอยู่รายรอบ พระธาตุลำปางหลวง มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน
จิตรกรรมฝาผนัง วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง
"จิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ อายุประมาณ 300-400 ปี วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง" ภาพจิตรกรรมได้แสดงให้เห็นวิถีชีวิต การแต่งกาย และสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นอย่างน่าสนใจ
รายละเอียด
เป็นงานจิตรกรรมฝาผนังเขียนประดับที่บริเวณคอสอง ของวิหารน้ำแต้ม (ซึ่งคำว่า น้ำแต้ม มีความหมายว่า ภาพจิตรกรรม) อันตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุ ได้มีผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมดังกล่าวและลงความเห็นไว้ว่าควรมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22(จากความเห็น อ.สน สีมาตรัง และ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ เห็นว่าควรเขียนในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ขณะที่ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม เสนอไว้ว่า ควรมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา)
ฐาปนีย์ เครือระยา ได้ศึกษาไว้ว่า เรื่องราวเป็นภาพเล่าธรรมะที่เน้นสอนคุณธรรม เรื่องความไม่ประมาท ซึ่งสื่ออกมาทางภาพจิตรกรรมประกอบเรื่อง มฆมาณพ หรือ ประวัติพระอินทร์ และประวัตินางสามาวดี
สถาณการณ์สร้างวีรบุรุษ ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดลำปางหลวงเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่หาดูได้ยาก แตกต่างจากวัดทางภาคเหนือโดยทั่วไป พร้อมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของวัด ที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เป็นจุดเริ่มต้นของตระกูล ทิพย์ช้าง หรือตระกูล “ เชื้อเจ็ดตน ” อันเป็นต้นตระกูลของเชื้อเจ้า่ปกครองภาคเหนือ
” เหตุการณ์สร้างวีระบุรุษ ” คำกล่าวที่มักใช้กันอยู่บ่อยๆในปัจจุบัน แต่ในอดีตนั้นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ได้ สร้างวีระบุรุษมากมายมาแล้วเช่นกัน
” เจ้าทิพย์ช้าง “ เจ้าผู้ครองเขลางค์นคร หรือนครลำปาง อดีตนั้นเป็นเพียงแค่พรานป่าหรือพรานหนุ่ม ผู้ถูกร้องขอจากขุนนางเมืองในสมัยนั้น ให้ช่วยกอบกู้เมืองลำปางที่ตกอยู่ในการครอบครองของพม่า และพรานป่าผู้กล้านี้ก็ได้ทำสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2275 โดยปลอมตัวเข้าไปในเขตชั้นในที่พม่าใช้วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นที่ตั้งมั่น แล้วลอบฆ่าแม่ทัพพม่าจนเสียชีวิต ซึ่งรอยกระสุนจากการสู้รบ และร่องรอยการหลบหนี ยังปรากฏอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงมาจนถึงทุกวันนี้
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เหตุการณ์ได้สร้างวีระบุรุษในยุคอาณาจักรล้านนา ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายก่อนที่จะรวมกับไทยภาคกลางหรือ กรุงศรีอยุธยา ให้เป็นอาณาจักรไทยผืนแผ่นเดียวกัน
ปัจจุบัน หากใครมีโอกาสไปเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวง ก็คงมองหารอยกระสุนที่ว่านี้ได้ไม่ยากนัก เพราะอยู่บริเวณหน้า พระธาตุเจดีย์ ตรงรั้วทองเหลือง ซึ่งมีป้ายบอกไว้ชัดเจน รูกระสุน 2 รู เบ่อเร่อ คงทำให้คนรุ่นปัจจุบันอดไม่ได้ที่จะคิดถึง อาวุธสงครามในสมัยนั้น ในยุค ที่ยังใช้ดาบ ใช้หอก เป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้ข้าศึกศัตรู
กระสุนอะไรทำไมรุนแรงถึงขนาดทะลุเหล็กทองเหลืองของรั้ว ทั้งๆที่เมื่อสมัยสองร้อยกว่าปีก่อนยังเป็นยุคใช้ปืนแก๊ป
ต้องอัดดินปืน ต้องอัดหัวกระสุนเหล็ก กว่าจะยิงแต่ละนัดก็ใช้เวลานาน แต่ปืนแก๊ปสมัยนั้นก็มีอานุภาพ ยิงทะลุรั้วทองเหลืองได้ เป็นสิ่งที่ผู้คนยุคนี้อดทึ่งไม่ได้ ใครไปเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวงก็ไม่ควรพลาดชมในจุดนี้
ตำนานต้นขะจาว
ต้นขะจาว เป็นต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดลำปาง ถ้าหากจะพูดถึงต้นขะจาวตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงแล้ว มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นขะจาว หรือไม้ขะจาวดังว่า...
ไม้ขะจาว ปลูกครั้งพุทธกาล เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ครั้งหนึ่งได้มีมีชาวลัวะคนหนึ่งได้นำ กิ่งขะจาวทำเป็นไม้คานหาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าวและมะตูม มาถวายพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ภายหลังอธิษฐานนำไม้ขะจาว โดยใช้ทางปลายปักลงไม่นานไม้คานที่ปักไว้ ก็แตกกิ่งก้านเจริญเติบโตเกิดเป็นกิ่งก้านสาขาขึ้นมา สร้างความแปลกใจให้ชาวบ้าน และชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำเอารากไม้ขะจาวไปบูชาหรือนำไปเป็นเครื่องรางของขลังห้อยคอเช่นเดียวกับ ตระกุดผ้ายันต์
ตำนานต้นขะจาว เป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาช้านาน เป็นตำนานและเป็นสิ่งสำคัญที่มี หลักฐานคงอยู่ให้ผู้ที่ได้ไปเที่ยวชมวัดพระธาตุลำปางหลวง ได้แวะชม ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงนี้มีตำนานเล่าเรื่องต้นขะจาวดังข้างต้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังคงมีต้นขะจาวที่เห็นลักษณะลำต้นที่มีส่วนปลายปักอยู่บนพื้นดิน และส่วนลำต้นนั้นมีกิ่งก้านงอกออกมาเต็มไปหมด แต่กิ่งก้านนั้นจะชี้ลงดิน พอนานไปลำต้นเดิม ก็แห้งพุพังจนไม่เห็นซากเดิมของต้นขะจาว มีแต่ต้นที่งอกออกมาตรงส่วนเดิมของต้นขะจาวนั้นเป็นพุ่มใหญ่ บางส่วนสูงมองดูไกล ๆ เหมือนต้นโพธิ์
ในบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงเมื่อขึ้นบันไดวัดด้านหน้า จะมีต้นขะจาว ขึ้นอยู่ทางด้านซ้ายมือ ทางวัดได้บูรณะวัดและได้ก่อปูนซีเมนต์ล้อมรอบบริเวณ ต้นขะจาว ซึ่งเมื่อก่อนนั้นต้นขะจาว จะปรากฏอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ ยังเห็นซากเดิมของต้นขะจาวที่เล่ากล่าวขาน กันอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ก็จะเห็นต้นขะจาวปราก ดังภาพ(ถ่ายเมื่อ 20 ตุลาคม 2548)
พระธาตุประจำปีเกิด
นมัสการพระธาตุประจำปีชวด พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่
นมัสการพระธาตุประจำปีฉลู พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
นมัสการพระธาตุประจำปีขาล พระธาตุช่อแฮ แพร่
นมัสการพระธาตุประจำปีเถาะ พระธาตุแช่แห้ง น่าน
นมัสการพระธาตุประจำปีมะโรง พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่
นมัสการพระธาตุประจำปีมะเส็ง พระศรีมหาโพธิหรือต้นโพธิ์ เชียงใหม่
นมัสการพระธาตุประจำปีมะเมีย พระธาตุชเวดากอง พม่า
นมัสการพระธาตุประจำปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
นมัสการพระธาตุประจำปีวอก พระธาตุพนม นครพนม
นมัสการพระธาตุประจำปีระกา พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
นมัสการพระธาตุประจำปีจอ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือพระเจดีย์วัดเกตการาม เชียงใหม่
นมัสการพระธาตุประจำปีกุน พระธาตุดอยตุง เชียงราย
ที่มาของข้อมูล : http://oplart.blogspot.com/2006_12_01_archive.html : http://www.photoontour.com/Articles_HTML/watlampangluang/watlampangluang.htm
: http://sps.lpru.ac.th/script/show_article.pl?mag_id=12&group_id=53&article_id=931
บทความจากนรา
ความยิ่งใหญ่และสง่างามของวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น เห็นและสัมผัสได้เด่นชัดทันที ตั้งแต่เมื่อมองจากบริเวณภายนอกในระยะไกลหลายร้อยเมตร เป็นความงามที่สะกดผู้พบเห็นให้ตื่นตะลึงใจ จนรู้สึกตัวเล็กลีบลงในชั่วพริบตา
ในบรรดาคำพรรณนาชื่นชมวัดพระธาตุลำปางหลวงทั้งหมดที่เคยอ่านผ่านตา ผมจับอกจับใจกับบทความชื่อ ‘เที่ยวเมืองล้านนา’ โดยไมเคิล ไรท์มากสุด อาจารย์ไมค์ เขียนไว้ว่า “โอ้พระธาตุลำปางหลวงเอ๋ย ไม่รู้จะสรรเสริญด้วยคำใด เห็นท่านแล้ว กิเลสหล่น คำเราเพียงเถ้าถ่าน หมดไฟ” สั้น กระชับ เข้าเป้า ถูกต้อง และใช่เลย
วัดพระธาตุลำปางหลวง มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง และสร้างขึ้นอย่างประณีตดีเยี่ยม จนกลายเป็นความยิ่งใหญ่ที่ชวนให้รู้สึกอัศจรรย์ใจ ความสง่างามนั้นเกิดจาก การออกแบบวางผังวัด ด้วยภูมิปัญญาอันชาญฉลาด ฝีมือเชิงช่างที่ล้ำเลิศ เปี่ยมด้วยคุณค่าความงามทางศิลปะ และสภาพห้อมล้อมรอบ ๆ บริเวณวัด ตัววัดทั้งวัดตั้งอยู่บนเนินย่อม ๆ (ซึ่งไม่ใช่เนินตามธรรมชาติ แต่เป็นฝีมือมนุษย์ ถมดินก่อขึ้น) สูงจากพื้นราบปกติประมาณสิบเมตร เนินนั้นช่วยขับเน้นเสริมให้ วิหารหลวงและองค์พระธาตุเจดีย์ ซึ่งอยู่หลังเขตแนวกำแพงแก้ว (หรือเรียกกันอีกอย่างว่า ศาลาบาตร) เพิ่มทวีความสูงจนโดดเด่นขึ้นกว่าเดิมอีกมาก ประกอบกับรอบ ๆ บริเวณวัดครอบคลุมเลยไกลไปสุดหูสุดตา ไม่มีอาคารบ้านเรือนตึกสูงใด ๆ มาบดบังหรือรบกวนทัศนียภาพ ความยิ่งใหญ่สง่างามนั้นจึง เปล่งประกายอย่างถึงที่สุด และสามารถสัมผัสรับรู้ได้ทันที ถึงเจตนาในการออกแบบสร้างขึ้น โดยมุ่งหมายเนรมิตให้เป็นเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ สูงส่งเหนือกว่าโลกปกติของปุถุชน
พูดอีกแบบ วัดพระธาตุลำปางหลวง คือภาพจำลองอย่างเป็นรูปธรรมของสวรรค์บนดิน และเป็นภาพจำลองสรวงสวรรค์แดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผมคิดว่าไปได้กว้างไกลสุดเท่าที่จินตนาการของมนุษย์ (ในยุคสมัยอดีต)จะสามารถนึกคิดประดิษฐ์ออกมาได้ นี่ยังไม่นับรวมว่า มีสิ่งก่อสร้างอาคารสำคัญ ๆ อีกมากมายหลายหลากภายในวัด ซึ่งสร้างขึ้นอย่างอลังการวิจิตรบรรจง เฉพาะในมุมของผู้นิยมชมชอบทางศิลปะ วัดพระธาตุลำปางหลวงก็เปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ขนาดใหญ่ ซึ่งเก็บรวบรวมจัดแสดงผลงานศิลปะชั้นเยี่ยม จำนวนนับไม่ถ้วน ยกย่องกันว่า นี่เป็นแหล่งรวมงานศิลปกรรมล้านนาที่สมบูรณ์ถึงพร้อมมากสุดอีกแห่ง ไม่ใช่เพียงแค่ล้ำเลิศเป็นหนึ่งในจังหวัดลำปาง (ซึ่งมั่งคั่งด้วยวัดสวย ๆ เยอะแยะมากมาย) เท่านั้น แต่ถือเป็นเพชรน้ำเอกครอบคลุมทั่วตลอดทั้งภาคเหนือเลยทีเดียว หลายสิ่งหลายอย่างในวัดนี้ หาดูที่ไหนอีกไม่ได้แล้ว กระทั่งในเชียงใหม่ ซึ่งเคยมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา ก็เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่เพียบพร้อมครบถ้วน เทียบเท่า
ที่สำคัญคือวิหารสามหลัง ได้แก่ วิหารหลวง วิหารพระพุทธ และวิหารน้ำแต้ม ผู้รู้นักวิชาการต่างลงความเห็นว่า เหล่านี้เป็นวิหารอายุเก่าแก่มากสุดของล้านนา (ประมาณคร่าว ๆ ว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 หรือราว ๆ 500 กว่าปี) และยังคงสภาพใกล้เคียงกับของเดิมเมื่อครั้งแรกสร้าง แม้จะมีการซ่อมแซมบูรณะ ทว่าก็รักษาความกลมกลืน และมีการเปลี่ยนแปลงผิดแผกแต่เพียงน้อยนิด
สันนิษฐานต่อได้ว่า เดิมทีในเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือ คงจะมีโบราณสถานหลายแห่ง สมบูรณ์ใกล้เคียงกับวัดพระธาตุลำปางหลวง ข้อแตกต่างนั้นอยู่ที่ว่า ในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่เขตจังหวัดลำปาง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างล้านนากับพม่ามากนัก เมื่อเทียบกับถิ่นย่านละแวกอื่น วัดวาอารามสำคัญหลายแห่ง จึงไม่เสียหาย ไม่ถูกปล่อยทิ้งร้าง และได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องสม่ำเสมอ
วัดพระธาตุลำปางหลวง มีครบถ้วนทั้ง 3 องค์ประกอบหลัก ในการชื่นชมให้เกิดความดื่มด่ำประทับใจแบบดำดิ่งลงลึก นั่นคือ มีตำนานเรื่องเล่าห้อมล้อมแนบเคียงจำนวนมาก, ข้อมูลหนาแน่นในทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และท้ายสุด มีคำอธิบายเยอะแยะมากมายในแง่ความงามทางศิลปะ ว่ากันเฉพาะประวัติความเป็นมา ก็มีต้นตอบ่อเกิด หลายทาง (ซึ่งเล่าความไม่ลงรอยตรงกันนัก) ที่เล่าความเหตุการณ์ย้อนกลับไปไกลและเก่าสุด ปรากฏในหนังสือ ‘ตำนานพระบรมธาตุลำปางหลวง’ (ซึ่งน่าจะเป็นการเขียนขึ้นในชั้นหลัง โดยอ้างอิงจากเอกสารหลายชิ้น ที่ยังไม่เก่าเกินไปนัก) กล่าวถึงความเป็นมาเกี่ยวกับวัดนี้ ไว้ว่า
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าผ่านพ้นการตรัสรู้ได้ 25 พรรษา ทรงรำพึงว่า สืบไปเบื้องหน้า หากทรงมีอายุครบ 80 พรรษา ก็จะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน จึงควรอธิษฐานธาตุให้ย่อย เพื่อให้เหล่าอรหันต์และผู้คนนำไปบรรจุไว้เป็นที่สักการบูชา เสมือนพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ ขยายความให้ง่ายแก่การเข้าใจ นั่นเป็น กำเนิดจุดเริ่มต้นของแนวคิดเรื่องบรรจ ุพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในเจดีย์ และคติเกี่ยวกับการไหว้บูชาพระธาตุในเวลาต่อมา รุ่งขึ้นวันถัดมาเป็นวาระออกพรรษา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าสาวก ออกสัญจรไปตามเมืองน้อยใหญ่ กระทั่งถึงหมู่บ้านนามว่า ลัมภะการีวัน ทรงเสด็จประทับนั่งเหนือดอยม่อนน้อย (เขาเตี้ย) ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อ ลั๊วะอ้ายกอน ผ่านมาพบพระพุทธเจ้า ก็เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงนำเอาน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง (ไม้ข้าวหลามไม้เปราะ) มะพร้าวและมะตูมอย่างละ 4 ลูก ถวายแก่พระพุทธองค์ ทรงรับแล้วส่งกระบอกน้ำผึ้งนั้นแก่พระอานนท์ นำไปกรองลงบาตร จึงฉันน้ำผึ้งนั้น และโยนกระบอกไม้ไปทางทิศเหนือ
พระพุทธเจ้าทรงมีพยากรณ์ว่า ต่อไปเบื้องหน้า ที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองชื่อ ‘ลัมภะกัปปะนคร’ พร้อมทั้งยกพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียร ได้พระเกศา 1 เส้น แล้วมอบให้ลั๊วะอ้ายกอน ลั๊วะอ้ายกอนรับพระเกศานั้นแล้ว ก็บรรจุใส่ผอบ และร่วมกับพระเจ้าปเสนทิ ฯ (ซึ่งติดตามมาปรนนิบัติพระพุทธเจ้า) พระอรหันต์ ช่วยกันขุดหลุมกว้าง 5 วา ลึก 5 วา จากนั้นก็อัญเชิญผอบพระเกศาบรรจุฝังลงในหลุม ก่อเป็นพระเจดีย์เหนือหลุมอุโมงค์สูง 7 ศอก พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ต่อไปว่า หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว 218 ปี จะมีพระอรหันต์ 2 องค์ ชื่อพระกุมาระกัสสะปะเถระ นำเอาอัฐิพระนลาตเบื้องขวา (กระดูกหน้าผาก) และพระเมฆิยะเถระนำอัฐิพระศอ (กระดูกคอ) ด้านหน้าและด้านหลัง มาบรรจุเพิ่มไว้ในที่นี้อีก และเจดีย์นี้จะปรากฏเป็นพระเจดีย์ทองคำ ได้ชื่อว่า ‘ลัมภะกัปปะ’ พยากรณ์เสร็จสรรพ พระพุทธเจ้าก็ออกเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ยังบ้านเมืองอื่นต่อ
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี เหตุการณ์ทุกอย่างก็เป็นไปตามคำพยากรณ์ แต่เรื่องในตำนานยังไม่จบ พงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เล่าเหตุสืบเนื่องต่อมาไว้ว่า พระเจ้าสุวรรณภูมิ มีโอรส 2 องค์ คือ พระเจ้าอาทิตย์ราช และพระเจ้าจันทะเทวราช เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ขออนุญาตเรียกสั้น ๆ ว่า พระอาทิตย์และพระจันทร์ ครั้งนั้นพระอาทิตย์และพระจันทร์ เสด็จออกเดินทางมาทำการบูรณะพระธาตุ พระอาทิตย์บูรณะพระธาตุหริภุญชัย นครลำพูน ส่วนพระจันทร์บูรณะพระธาตุลัมภะกัปปะนคร หรือพระธาตุลำปางหลวง
ควรต้องหมายเหตุไว้เล็กน้อยนะครับ บางตำราระบุว่า เป็นกษัตริย์ผู้ครองดินแดนสุวรรณภูมิ นามว่าพระเจ้าจันทรเทวราช ที่แตกต่างกันอีกนิดก็คือ ทางหนึ่งเล่าว่าเสด็จมาบูรณะองค์พระธาตุโดยตรง แต่อีกทางหนึ่ง พระจันทร์ยกทัพผ่านมายังเมืองนี้ เห็นพระเจดีย์มีสภาพชำรุดทรุดโทรม แต่ที่สอดคล้องตรงกันก็คือ พระจันทร์ท่านทรงทราบกิตติศัพท์คำร่ำลือ เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมธาตุ จึงเกิดความต้องการ อยากอัญเชิญพระธาตุกลับไปยังบ้านเมืองของตน เพื่อทำการสักการบูชา จึงประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมธาตุ บรรจุลงในผอบ ทว่าเช้าวันต่อมา เมื่อเปิดผอบพระบรมธาตุก็อันตรธานหายไป (บางตำราก็เล่าโลดโผนยิ่งขึ้นว่า พระธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยกลับสู่ที่เดิม เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นโดยทั่วหน้า)
สรุปรวมความแล้วพระจันทร์ก็อัญเชิญพระธาตุไม่สำเร็จ และเพิ่มพูนความเลื่อมใส สร้างพระสถูปเจดีย์เสียใหม่ ให้ใหญ่โตสวยงามและแข็งแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างหุ่นยนต์ลงอาคมถืออาวุธ ประจำตำแหน่ง 4 ทิศ แล้วก่ออุโมงค์ครอบทับลงไป เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเฝ้าระวังรักษาพระบรมสารีริกธาตุ เหตุการณ์ก็นิ่งสงบไปอีกเนิ่นนาน ไม่ทราบเวลาที่แน่ชัด เรื่องทำนองเดิม ๆ คล้ายคลึงกันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง พระยาพละหรือพระยาพลราช เจ้าเมืองแพร่ ทราบความอันเป็นที่เลื่องลือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุที่ลัมภะกัปปะนคร จึงเสด็จมาพร้อมเหล่าเสนา ข้าบริวารจำนวนมาก เพื่อประกอบพิธีอัญเชิญพระธาตุ คราวนี้หนักข้อยิ่งกว่าเสียอีก คือ ขุดพบแค่แผ่นเงิน ที่กลบหลังหุ่นยนต์ และขุดลึกลงไปกว่านั้นไม่ได้ เจาะพื้นดินไม่เข้า หุ่นยนต์ป้องกันต้านทานเอาไว้อย่างแข็งขัน พระยาพลราชจึงเกณฑ์ผู้คนรวบรวมก้อนหิน และท่อนไม้ขนาดใหญ่มาเป็นจำนวนมาก และนัดแนะกันโถมทุ่มสรรพสิ่ง ลงไปในหลุมพร้อม ๆ กัน หวังให้น้ำหนักของหินและไม้ เททับพื้นหลุมนั้นให้พังทลาย
ตำนานบันทึกไว้ว่า พื้นหลุมไม่มีร่องรอยบอบช้ำบุบสลาย แต่หินและไม้เปื่อยป่นละเอียดเป็นผุยผง ทำซ้ำ ๆ เช่นนี้อยู่ 2-3 ครั้ง ล้วนได้รับผลดังเดิมไม่ผิดเพี้ยน พระยาพลราชทราบแน่แก่ใจว่า ไม่มีบุญญาบารมีเพียงพอในการอัญเชิญพระธาตุ และยอมสยบน้อมรับต่อความศักดิ์สิทธิ์ จึงสั่งให้หาตัวคนกระทำความผิดคิดชั่ว 4 คน มาประหารฆ่าทิ้ง แล้วเอามากองสุมกัน ให้เท้าชี้ไปคนละทิศ เพื่อเป็นกำลังเสริมในการปกป้องคุ้มครององค์พระธาตุสืบไป และยังถมดินจนราบเรียบเท่าพื้น ให้หาไม้ขะจาวมาปลูกตรงกลางหลุม รวมทั้งปลูกไม้เดียวกันห้อมล้อมทั้ง 4 ทิศ เพื่อเป็นเครื่องหมายระบุตำแหน่ง พระยาพลราชทำเช่นนั้น ด้วยเชื่อว่า หากแม้นวันหนึ่งข้างหน้า หุ่นยนต์ลงอาคมชำรุดพังลงหรือเสื่อมด้วยเวทมนตร์ พระองค์จะได้เสด็จย้อนกลับมาประกอบพิธีอัญเชิญพระธาตุอีกครั้ง
ตำนานไม่ได้เล่าอะไรต่อจากนี้นะครับ ถ้าจะให้เดา ผมก็เดาว่า เมื่อพระยาพลราชกลับสู่เมืองแพร่ คงจะรอแล้วรอเล่า เฝ้าแต่รอ จนกระทั่งเป็นฝ่ายล่วงลับดับไปเสียก่อน ตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดพระธาตุลำปางหลวง ยังไม่จบครบถ้วนกระบวนความนะครับ
...... ยังมีอีกเรื่องเล่าซึ่งเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี......
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน 13 กันยายน 2553 11:59 น.
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000128302นรา 2 (ต่อ)
ตำนานอีกเรื่องหนึ่งของวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเล่าขานสืบต่อกันมาอย่างแพร่หลาย คือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่จามเทวีหรือพระนางจามเทวี
เรื่องราวโดยละเอียดของพระนาง บันทึกไว้ในเอกสารโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญก็เช่น จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริปุญไชย และ ชินกาลมาลีปกรณ์ ฯลฯ
แต่ละตำนานก็ระบุวัน เดือน ปี รวมทั้งข้อมูลรายละเอียดบางช่วงบางตอนผิดแผกแตกต่างกัน (โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาในช่วงต้นของพระนางจามเทวี ซึ่งโลดโผนพิสดารแทบจะไม่ตรงกันเลย) จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ถูกต้องแน่ชัด พูดแบบกว้างๆ พระนางจามเทวีเป็นกษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่งแห่งนครหริภุญชัย (หรือ จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) ทรงนำความเจริญหลากหลายประการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนความรุ่งเรืองทางด้านศิลปะและอารยธรรม มาสู่ดินแดนภาคเหนือ
สรุปความรวมๆ จากตำนานหลายเล่ม พอจะประมวลคร่าวๆ ได้ว่า พระนางจามเทวีเป็นพระธิดา ของเจ้าผู้ครองนครละโว้ (บางตำราก็อ้างว่า พระนางเป็นชาวหริภุญชัยโดยกำเนิด แต่พระเจ้ากรุงละโว้นำไปชุบเลี้ยง เป็นลูกบุญธรรม) ต่อมาได้เสด็จเดินทางไปครองเมืองหริภุญชัย ระยะเวลาสร้างเมืองนั้น ปราชญ์หลายท่าน คำนวณศักราชจากเอกสารโบราณ แล้วประมาณว่าอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1071-1204 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง กับวัดพระธาตุลำปางหลวง ตำนานเล่าไว้ว่า
ล่วงสู่ พ.ศ. 1200 เศษ คราวหนึ่งเจ้าแม่มหาเทวี (พระนางจามเทวี) เสด็จไปทัพยังแม่สลิต จนการทั้งปวงสำเร็จเรียบร้อย ระหว่างเส้นทางกลับ ได้แวะพักตั้งค่ายยังบริเวณที่เรียกว่า สบยาว (ปัจจุบันคือ ตำแหน่งที่ปากห้วยแม่ยาวไหลมาบรรจบ แม่น้ำวัง ทางทิศใต้ห่างจากวัดพระธาตุลำปางหลวงประมาณ 2 กิโลเมตร) ตกดึกก็ปรากฏแสงไฟจากละแวกใกล้เคียง และลอยพุ่งลงมายังกลางค่ายพัก เบื้องต้นพระนางจามเทวี เข้าพระทัยว่า ชาวบ้านละแวกนั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของพระองค์ แกล้งจุดไฟโตนดเล่น รุ่งขึ้นจึงทรงไต่ถามบรรดาเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้ความว่า หามีผู้ใดพบเห็นประกายไฟนั้น ไม่มีเพียงพระนางองค์เดียวที่ทอดพระเนตรเห็น ในที่ประชุมนั้น มีชายผู้หนึ่งชื่อ ล่ามพันทอง กราบทูลว่า ที่พระแม่เจ้าอยู่หัว ได้เห็นไฟโตนดตกนั้น หาใช่ไฟโตนดไม่ ที่แท้คือพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ตั้งอยู่วัดลัมภะกัปปะนคร หากเสด็จแสดงปาฏิหาริย์ให้พระแม่เจ้าอยู่หัวได้ทราบ ทั้งนี้โดยบุญญาธิการของพระแม่เจ้าอยู่หัวต่างหาก เมื่อฟังคำกราบทูลแล้ว พระนางก็เข้าพระทัยโดยปัญญา และมีรับสั่งให้เตรียมพลยกไปยังลัมภะกัปปะนคร แล้วเสด็จกราบไหว้บูชาองค์พระธาตุด้วยอาการอันเคารพยิ่ง ฝ่ายชาวบ้านเมื่อทราบข่าว ก็ชักชวนกันมาเข้าเฝ้า เพื่อชื่นชมพระบารมี พระนามจามเทวีทรงตรัสถามถึงทุกข์สุขต่างๆ กับปวงเหล่าชาวบ้าน จนทราบว่า เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ สาหัสเพียงอย่างเดียว ก็คือ ขาดแคลนน้ำสำหรับใช้กินดื่ม ต้องนำเกวียนไปบรรทุกจากแม่น้ำวังและห้วยแม่ยาว กินระยะทางไกล พอประทังความยากลำบากชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนบริเวณเขตย่านกลางเมือง ขุดบ่อไว้มากมาย ก็หาน้ำมิได้เลย พระนางจามเทวีจึงทรงกราบไหว้พระธาตุ กล่าวสัจจะอธิษฐานว่า แม้นที่นี้เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าจริงแล้วไซร้ ข้าพเจ้าขอให้สายน้ำจงแตกออกตรงใจกลางเมืองนี้ เพื่อให้เป็นที่อาศัย แก่หมู่คนทั้งหลายอันได้รับความเดือดร้อนนั้น แล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จกลับ ยกทัพยาตราไปจนกระทั่งแวะพัก ที่เมืองตาลเมืองรมณีย์ (เมืองตาลหรือเมืองรมณีย์ เป็นเมืองร้างตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาล ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร)
ย้อนกลับมายังลัมภะกัปปะนคร เมื่อขบวนทัพของพระแม่เจ้าเสด็จกลับไปแล้ว เย็นวันนั้นหญิงชรานาม ยายลอน ได้พบที่บริเวณหนึ่ง ปรากฏรอยน้ำซึมออกมาบนผิวดิน จึงขุดให้ลงลงไป เห็นสายน้ำพวยพุ่งหลากไหล ยายลอนก็บอกกล่าว ชักชวนชาวบ้านอื่นๆ มาดู และช่วยกันใช้จอบเสียมขุด น้ำนั้นก็ยิ่งไหลแรง คนทั้งปวงก็พูดลงเนื้อความตรงกันหมดว่า ชะรอยจะเป็นด้วยบุญญาธิการแห่งพระแม่เจ้ากระทำสัจจะอธิษฐานเป็นแน่แท้ เมื่อลองดื่มกิน ก็พบว่า น้ำบ่อนี้แปลกกว่าบ่ออื่น คือ ใสเย็นมีรสกินอร่อย รุ่งขึ้นผู้เป็นจ่าบ้าน (พ่อเมือง) ก็หาหม้อน้ำใหม่อย่างดี ตักตวงน้ำจากบ่อจนเต็ม ห่อหุ้มด้วยผ้าอย่างดี แล้วใช้คนหามมุ่งตรงไปยังเมืองตาล พระนางจามเทวีทอดพระเนตรเห็น ทรงตรัสถามว่า นี้เป็นสิ่งใด คนเหล่านั้นก็กราบทูลเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงทรงมีรับสั่งให้นางเฒ่าแก่ข้าราชบริพาร ชิมดื่มดู นางเฒ่าแก่กราบทูลว่า น้ำนี้มีรสดีกว่าน้ำเจ็ดริน อันอยู่ในเมืองหริภุญชัยของพระองค์ สดับฟังดังนั้น พระนางจามเทวีจึงมีรับสั่งต่ออำมาตย์ จัดส่งผู้คนกลับไปยังลัมภะกัปปะนคร เพื่อหาที่ทางสำหรับปลูกแต่งพลับพลา ที่ประทับ ครั้นแล้วเสร็จ พระนางจามเทวีก็ยาตราทัพจากเมืองตาล เสด็จไปยังพลับพลานั้น ทรงชำระสระสรงพระวรกาย โดยใช้น้ำจากบ่อที่ได้อธิษฐานไว้จนหมดจด แล้วเสด็จไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ แล้วก็ให้มีการฉลองสมโภช พระบรมสารีริกธาตุตลอด 7 วัน 7 คืน ถวายนาราคาล้านเบี้ยให้เป็นนาประจำพระบรมสารีริกธาตุ ถวายล่ามพันทองและนางดอกไม้ (ซึ่งเป็นทาสชายหญิงของพระองค์) พร้อมด้วยเหล่าบริวารอีก 8 ครัว ให้อยู่เฝ้าปฏิบัติรักษาพระธาตุ อีก 2 ครัวให้เฝ้ารักษาบ่อน้ำ เสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงเสด็จกลับ ตำนานเรื่องพระนางจามเทวีกับวัดพระธาตุลำปางหลวง ก็สิ้นเนื้อความแต่เพียงเท่านี้
ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ยืนยันหรอกนะครับว่า ตำนานดังกล่าวเป็นเรื่องเท็จจริงประการใด และพูดกันตามตรง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ นานาที่ปรากฏในเรื่องเล่าขาน ก็ ‘เชื่อยาก’ สำหรับเราๆ ท่านๆ ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่วิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทต่อชีวิต อาจเป็นไปได้ว่า พระนางจามเทวีเคยเสด็จมายังวัดพระธาตุลำปางหลวงจริง และคงจะทรงทำนุบำรุงพระธาตุให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม ส่วนสีสันโลดโผนต่างๆ อาจเป็นเรื่องราวที่ผูกแต่งขึ้นด้วย 2 วัตถุประสงค์ คือ เสริมส่งบุญญาบารมีของพระนางให้โดดเด่นยิ่งขึ้น และตอกย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นที่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
นัยยะสำคัญที่แท้จริงของตำนานนี้ คือ การอธิบายว่า วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นมีมานมนานกาเล และย้อนลึกไปไกลมาก เทียบเคียงกับตำนานอื่นๆ (ซึ่งผมเล่าไว้ในบทความชิ้นที่แล้ว) เรื่องของพระนางจามเทวี มีน้ำหนักความน่าเชื่อและเป็นไปได้มากกว่าเรื่องเล่าที่เหลือทั้งหมด อย่างน้อยบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็พิสูจน์ได้จากหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่า เคยมีตัวตนอยู่จริง รวมทั้งมีระยะเวลายืนยันกำหนดกรอบกว้างๆ เอาไว้ค่อนข้างแน่ชัด ถ้าตำนานนี้มีความจริงเจือปนอยู่ นั่นหมายความว่า ระหว่างพ.ศ. 1,000 กว่าๆ ไปจนถึงพ.ศ. 1,200 กว่าๆ วัดพระธาตุลำปางหลวง ได้มีปรากฏขึ้นแล้ว และเป็นวัดสำคัญที่ชาวบ้านเคารพนับถือเก่าและมีอายุมากสุดๆ แห่งหนึ่งเลยนะครับ ถ้าเทียบกับโบราณสถานอื่นๆ ทั้งหมดในบ้านเรา
วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การศึกษาซุ้มประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง’ โดยอุมาพร เสริฐพรรณึก อธิบายเสริมไว้ว่า “...ได้เคยปรากฏว่าวัดพระธาตุลำปางหลวงนี้ เคยรกร้างขาดการดูแลอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อสิ้นอำนาจ ของอาณาจักรหริภุญชัย แล้วเข้าสู่อำนาจของอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ จึงได้กลับมาบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช โดยปรากฏในศิลาจารึกที่พบในจังหวัดลำปาง...”
มีศิลาจารึก 3 หลัก ที่บันทึกเล่าไว้เกี่ยวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง แท้จริงแล้วจะมีจารึกอื่น ๆ มากไปกว่านี้หรือเปล่า ผมไม่ทราบ ยังเรียนและสืบค้นข้อมูลได้ไม่ทั่วถึง แต่อย่างน้อยที่สุดก็ 3 ชิ้น จารึกทั้ง 3 เล่าเนื้อความรายละเอียด เกี่ยวกับการที่ผู้ครองเมืองล้านนาหลายองค์หลายช่วงเวลา ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมหรือซ่อมแซมวัดพระธาตุลำปางหลวง วัน เดือน ปี ที่ระบุไว้ในจารึกทั้ง 3 หลัก ได้แก่ พ.ศ. 1992, พ.ศ. 2019, พ.ศ. 2039, พ.ศ. 2145 และ พ.ศ. 2192 จารึกเหล่านี้ช่วยฟันธงและคอนเฟิร์มได้ว่า ระยะเวลาดังกล่าว วัดพระธาตุลำปางหลวง มีอยู่แล้วแน่นอน และไม่มีทางใหม่ไปกว่านี้ ส่วนจะเก่าแก่มีอายุแท้จริงย้อนหลังนานเท่าไร? ยังไม่ทราบและพิสูจน์ไม่ได้
สรุปได้หยาบๆ เพียงแค่ว่า วัดพระธาตุลำปางหลวงมีอายุเก่าแก่มาก และผ่านวันเวลาถูกทิ้งร้างอีกนานเนิ่นนาน จึงค่อยมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ จนกลับมาสง่างามดังเดิม (หรืออาจจะยิ่งอลังการกว่าเดิมก็ได้) ประการต่อมา ช่วงห่างจำนวนปีแต่ละครั้งที่ปรากฏในจารึก บ่งบอกให้ทราบได้ว่า การก่อสร้างเพิ่มเติมและบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่อนข้างมีระยะถี่กระชั้น รวมทั้งสะท้อนแสดงถึงความเป็นวัดสำคัญมาก และได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีเยี่ยมต่อเนื่องมาตลอดทุกยุคสมัย
นี่เป็นเหตุผลหลักข้อหนึ่งเลยนะครับว่า ทำไมวัดพระธาตุลำปางหลวง จึงเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ทรงคุณค่า พรั่งพร้อมด้วยความงามทางศิลปะแทบทุกแขนง และยังคงสภาพมาถึงปัจจุบันได้สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างน่าอัศจรรย์ นี่ยังไม่นับรวมบันทึกจากพงศาวดารและตำนานอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งบอกเล่าเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่มานมัสการ และบำรุงวัดอย่างสม่ำเสมออีกหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม พิจารณาเฉพาะเพียงแค่ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะ รูปทรงลวดลายการประดับตกแต่ง ของซุ้มประตูโขง, วิหารต่างๆ ภายในวัด และองค์พระธาตุเจดีย์ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน สันนิษฐานสอดคล้อง ใกล้เคียงกันไว้ว่า สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดพระธาตุลำปางหลวง เท่าที่ตกทอดหลงเหลือให้เห็นกันในปัจจุบัน น่าจะมีความเก่าแก่และอายุมากสุด ประมาณแถว ๆ พ.ศ. 2,000 หมายความได้ว่า ตัววั พูดอีกแบบ ภาพวัดพระธาตลำปางหลวงที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันในปัจจุบัน ไม่ใช่ภาพเก่าสุดหรือภาพแรกสุด (ซึ่งจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรนั้น เกินปัญญาและสุดที่จะจินตนาการนึกภาพออก) รวมทั้งยังมีการสร้างเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ในเวลาถัดมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายร้อยปี จนกลายเป็นแหล่งรวมงานศิลปะหลากยุคสมัย ที่น่าทึ่งคือ งานต่างยุคต่างสมัย ทั้งหลายประดามีในวัดพระธาตุลำปางหลวง สร้างขึ้นได้สอดคล้องกลมกลืนกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว หนุนส่งให้แต่ละสิ่ง ทวีเพิ่มความงามยิ่งๆ ขึ้น โดยไม่ข่มรังแกกัน
ผมลืมเล่าไปนิดนึงว่า ในบริเวณวัดนอกเขตพุทธาวาส เลยถัดออกมาไม่ไกลนัก ยังมีบ่อน้ำที่เชื่อว่า เกิดจากการอธิษฐานของพระนางจามเทวี ปรากฏให้เห็นอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ผมอยากจะบอกอย่างนี้นะครับว่า ตำนานต่างๆ เกี่ยวพระนาง อาจเป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ด้วยเหตุและผล แต่ว่ากันเฉพาะความเลื่อมใสศรัทธาล้วนๆ
ผมเชื่อสนิทใจและรักที่จะเชื่อแบบไม่ต้องอาศัยเหตุผลว่า เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริง
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน วันที่ 20 กันยายน 2553 13:42 น.
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000132089--------------------------------------
พุทธมรดก ความท้าทายอนุรักษ์
กลายเป็นเรื่องให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จากกรณีซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานเก่าแก่ โดยเฉพาะวัดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ที่บูรณะซ่อมแซมจนผิดแปลกไปจากรูปทรงเดิม บางแห่งแทบไม่หลงเหลือเค้าโครง ความสวยงามของศิลปะในสมัยโบราณนั้นๆ ให้ได้ชื่นชม
ดังกรณีวัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ที่บริษัทรับเหมาซ่อมแซมเลยเถิดกลายเป็นทำลาย 'ลายคำ' ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเทวดาพนมมือ อายุไม่น้อยกว่า 300 ปี ที่บานประตูวิหารพระพุทธ ด้วยการปิดทองและเขียน ลวดลายใหม่ ทับลวดลายเดิม จนเหมือนเป็นของใหม่ สุดท้ายกรมศิลปากรต้องสั่งรื้อกันขนานใหญ่ ลอกลายใหม่ที่ทับออก ทำให้กลับคืนเหมือนเดิม เช่นเดียวกับวิหารน้ำแต้ม ภายในวัดแห่งนี้ที่ซ่อมแซมจนวิหารมีสภาพแตกต่างจากของเดิม สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่าง ปรากฏการณ์อันสะท้อนถึงการอนุรักษ์โบราณสถานที่ผู้เกี่ยว ข้องขาดความรู้ความเข้าใจ ในเวทีเสวนา 'พุทธมรดก ความท้าทายในการอนุรักษ์' จัดโดยสยามสมาคม เมื่อเร็วๆ นี้ มีคำตอบกับสิ่งเหล่านี้ ไม่มากก็น้อย
เริ่มด้วยคำถามที่ว่า เหตุใดความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมของวัดไทยจึงเลือนหายไป และเมื่อวัดต้อง เผชิญกับความกดดันในการปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ส่วนกลางกำหนดขึ้น แต่เดิมประเพณีของวัด ในภาคต่างๆ ยังแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมไทยนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย อย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิภาค ที่ต่างกันทั้งเรื่องประวัติความเป็นมา และค่านิยมของยุคสมัย ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ความแตกต่าง หลากหลาย เหล่านี้เพิ่มคุณค่าวัฒนธรรมไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของท้องถิ่นและของชาติ
แต่เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ วัฒนธรรมประเพณี และขนบธรรมเนียม ท้องถิ่น ถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมสายเดียวจากภาคกลาง ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นของวัดถูกแทนที่ด้วยแบบ สำเร็จรูปที่ออกแบบจากส่วนกลาง ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป ได้รู้จักได้เข้าใจ และได้ชื่นชมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของวัดน้อยลงอีกทั้งยังเป็นการลด ทอนความหลากหลายทางศิลปะสถาปัตยกรรมของวัดไทยด้วย
ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ขยายความในประเด็นนี้ว่า เมื่อวัดต้องเผชิญความกดดัน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ส่วนกลาง หรือรัฐกำหนดขึ้น ส่งผลให้ความหลากหลายของสถาปัตยกรรมเลือนหายไป โดยเฉพาะใน 2 ศตวรรษที่ผ่านมา
ทั้งที่แต่เดิมในสมัยก่อนกรุงธนบุรี มาถึงสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตามแบบฉบับอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้างที่สืบทอด มายังหลงเหลืออยู่มาก เนื่องจากส่วนกลางไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม และการปกครองสงฆ์ ในท้องถิ่นมากนัก ยังคงปล่อยให้เป็นอิสรเสรี
ดร.พิริยะชี้ว่า แต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ.2445 มีการตราพ.ร.บ.คณะสงฆ์ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ทำให้การปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศ เป็นแบบการปกครองของฆราวาส มีมหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษาในกิจของสงฆ์ ปกครองผ่านเสนาบดีกระทรวง
และหลังใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้สถาปัตยกรรมภาคกลางจึงเข้าไป เป็นที่นิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิหารแบบภาคกลาง ผุดแทรกกลางหมู่สถาปัตยกรรมแบบฉบับล้านช้างมากขึ้น เช่นที่ วัดโพธิ์ชัยนาพึง อ.นาแห้ว จ.เลย
อีกทั้งการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ศิลปะจากภาคกลางมีอิทธิพลต่อภูมิภาคในช่วง 4 ทศวรรษ ของระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์
'เมื่อการปกครองภาคกลางเข้าไปเผยแพร่ในภาค อื่นๆ รูปแบบสถาปัตย กรรมจากภาคกลาง ถูกนำไปใช้ ในภาคต่างๆ เช่น ศาลาการเปรียญ ที่ไม่เคยปรากฏ มาก่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องให้มีความเหมือนกับภาคกลาง จึงต้องสร้างศาลาการเปรียญขึ้นมา เช่น ที่ศาลา การเปรียญ วัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2493'
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะกล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2483 กรมศิลปากรมอบหมายให้พระพรหมพิจิตร ออกแบบพระอุโบสถสำเร็จรูป 3 แบบ ในรูปแบบของไทยประเพณีเครื่องคอนกรีต เพื่อให้เจ้าอาวาสนำไปสร้าง โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าออกแบบ ทั้งยังเป็นระเบียบเรียบร้อย
ดังนั้น พระอุโบสถในรูปแบบของกรมศิลปากรจึงเป็นสัญลักษณ์ของคณะสงฆ์ไทยไปโดยปริยาย ซึ่งความสำเร็จ ของพุทธศิลป์แห่งชาติเช่นนี้ได้ครอบคลุมในวัดทุกภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเดินทางไปในจังหวัดไหนก็จะเห็น สถาปัตยกรรมเหมือนกันหมด ซึ่งแสดงออกถึงการเป็นพุทธศาสนาแห่งชาติ' อาจารย์พิริยะกล่าว
สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ไม่มีพระสงฆ์ และช่างฝีมือที่มีคุณภาพ และเข้าใจถึงความสำคัญ ของศิลป วัฒนธรรมในอดีตมาบูรณะซ่อม แซมวัดวาอารามที่เก่าแก่
ขณะที่ พระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระเชตุพนวิมล มังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ให้มุมมองว่า ในอดีตวัดโพธิ์มีพระ เก่งๆ ในการบูรณะวัด และบางส่วนยังช่วยให้คำแนะนำ ในการบูรณะและซ่อมแซมวัด แต่ในปัจจุบันพระส่วนใหญ่ใน ประเทศเกือบ 80-90 เปอร์เซ็นต์ขาดความรู้ในเรื่องของศิลปะ
เนื่องจากพระสมัยปัจจุบันมุ่งเรียนรู้แต่ธรรมะ ไม่ได้เรียนรู้ ศิลปะเหมือนในอดีต เวลาทำงานศิลปะต่างๆ จึงต้องขอ ความคิดเห็นกับกรมศิลปากร แต่กรมศิลป์ในปัจจุบันก็มีปัญหา ที่มัวแต่ทำตัวเป็นผู้รับเหมา ในการจัดสร้างศิลปะตามวัดต่างๆ
'สิ่งที่กรมศิลป์ต้องทำ คือให้ความรู้กับวัดต่างๆ ว่าอันไหนควรอนุรักษ์ไว้ อันไหนควรเอาออก เนื่องจากเป็น สิ่งแปลกปลอมให้พระใหม่และพระที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้เรียนรู้ การบูรณ ปฏิสังขรณ์วัด วัดไหนอยากสร้างใหม่ก็สร้างได้ แต่สิ่งที่เป็นของเก่าต้องอนุรักษ์ไว้' พระราชเวทีกล่าว
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาในการ อนุรักษ์คือช่างฝีมือดีๆ มีน้อย และอุปกรณ์ในการจัดทำไม่ดี เช่น ไม้สักที่เอามาทำนั้นไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ และช่างก็หาได้ยาก อีกทั้งความแตกต่างระหว่างช่างสมัย ปัจจุบัน กับช่างสมัยก่อน ที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณ ไม่รีบร้อนอะไร ทุกอย่างจะเรียบร้อย ปูนปั้นต่างๆ จะงดงาม ประณีต โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือว่าเป็นยุคทองของศิลปะเลยก็ว่าได้
ด้าน นายวสุ โปษยะนันท์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ชี้เเจงว่า ถ้าจะอนุรักษ์วัดต้องเห็นคุณค่าและรู้ว่าจะรักษาวัดนั้นอย่างไร และต้องศึกษา ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงคุณค่าของสิ่งที่จะอนุ รักษ์
ส่วนวัดที่อยู่ในต่างจังหวัดนั้น ในทางปฏิบัติ จะตั้งคณะกรรม การขึ้นมาดูเเลในการอนุรักษ์ รวมทั้งมอบอำนาจให้ สำนักงานของกรมศิลป์ ที่อยู่ในระดับภูมิภาคตัดสินใจที่จะซ่อมแซมที่รักษารูปแบบเดิมไว้ สามารถตัดสินใจได้เลย
ตัวแทนจากกรมศิลป์กล่าวถึงงานวิจัยว่าด้วยเรื่องปัญหาการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมในศาสนสถาน และในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ด้วยว่า จากผลการวิจัยชี้ชัดว่า ปัญหาการก่อสร้างและรื้อถอนโบราณสถานเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์รวมถึงการจัดสร้าง และซ่อมแซมต่อเติมที่ไม่เหมาะสม เพราะ ไม่คำนึงถึงของเดิม ทั้งรูปแบบ วัสดุ และสี อีกทั้งไม่เห็นถึงคุณค่าเก่าก่อน และการก่อสร้างใหม่ในพื้นที่ของวัด ซึ่งทำโดยไม่เหมาะสม
แม้ว่าศิลปวัฒนธรรมจากส่วนกลางจะเข้าครอบงำศิลปะพื้นถิ่นจนหลงเหลือให้เห็นอยู่น้อยเต็มที แต่ก็ยังมีชาวบ้าน จากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งใน จ.ลำปาง ที่ลุกขึ้นมาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงคุณค่า และความภาคภูมิใจไว้ได้ อย่างน่าชื่นชม
นายอนุกูล ศิริพันธุ์ ประธานชุมชนบ้านปงสนุก อ.เมือง จ.ลำปาง เล่าว่า ก่อนจะบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ หรือวิหารจัตุรมุข ของวัดปงสนุก เป็นวิหารหลังเดียวที่หลงเหลืออยู่ และพังลงมา ก็ได้มีการศึกษา และปรึกษากับอาจารย์์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงความเป็นมาของตัววิหารอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ก่อนจะ นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับชาวบ้านว่าตัววิหาร มีความเป็นมา และสำคัญอย่างไร ทั้งในแง่ความหมายลักษณะ ทางสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม และความหลากหลาย ที่แฝงอยู่ในนั้น รวมทั้งอธิบายถึงความหมายของศิลปะต่างๆ ของวิหารให้ชาวบ้าน ฟัง ชาวบ้านจึงเกิดการหวงแหน และตื่นตัวที่จะร่วมอนุรักษ์วิหารหลังนี้
ที่สำคัญคือ เงินที่นำมาซ่อมแซมวิหารก็มาจากการเรี่ยไร จากชาวบ้าน ถือเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในทุกขั้นตอนให้กับ ชาวบ้านในการร่วมอนุรักษ์วิหาร หลังดังกล่าว
ผลจากการอนุรักษ์ดังกล่าวทำให้วัดปงสนุกได้รับมอบรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปีพ.ศ.2551 ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
จากที่มาของปัญหาส่งผลให้ 'พุทธมรดก' โบราณสถาน และวัดวาอารามตามท้องถิ่นต่างๆ ถูกครอบงำจากส่วนกลาง ทำให้ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นนั้นๆ เลือนหายไป หรือซ่อมแซมผิดเพี้ยนไป
แต่จากกรณี 'วัดปงสนุก' ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชน น่าจะเป็นตัวอย่างและคำตอบ ที่จะอนุรักษ์พุทธมรดกเหล่านี้ไว้ได้ดีที่สุด
ที่มา : ข่าวสด online วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 7819
2 ความคิดเห็น:
very good ^^"
เป็นเพื่อนกับผมได้ที่ facebook
panupongjab@hotmail.com
ขอบคุณมากค่ะ
แสดงความคิดเห็น