ตำนานจระเข้ผีสิง?....ที่วัดท่าแซ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ตำนานจระเข้ผีสิง?....ที่วัดท่าแซ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยเดินทางไปทำวิจัยส่วนตัวที่วัดท่าแซ เลขที่ 46 บ้านท่านแซ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ตั้งวัดราว 12 ไร่ 10 ตารางวา ทำไมวัดแห่งนี้ถึงเรียกกันว่า ?วัดท่าแซ? นั่นสิชื่อแปลกดี จึงลองเช็คประวัติและที่มาของชื่อวัดดู พอทำให้ทราบข้อมูลเบื้อต้นว่าในสมัยก่อนภายในตำบลคลองอู่ตะเภายังเป็นตำบลใหญ่ ประกอบไปด้วย 4 หมู่บ้านซึ่งเป็นมิตรที่ดีต่อกันเนินนานมา ทั้งการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือแม้แต่การค้าขายก็ล้วนเจริญดี โดยในเรื่องของการค้าขายนี่เองที่ปรากฏเป็นจุดก่อกำเนิดชื่อหมู่บ้านว่า ?ท่าแซ? คนเฒ่าคนแก่ภายในหมู่บ้านเล่าสืบกันมาว่า ณ ตำบลคลองอู่ตะเภา ยังมีสถานที่แห่งหนึ่งเป็นชายหาดขนาดใหญ่ที่ซึ่งมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของคนในพื้นที่ และคนต่างถิ่นกันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไม่สอย อาหารการกิน ล้วนมีการซื้อขาย และแลกเปลี่ยนกันอย่างมากมาย ผู้คนมาหน้าหลายตาอาศัยเรือซึ่งบรรทุกพืชผัก และอาหารทะเลมาขายกัน เมื่อมีผู้คนมากเข้าๆเสียงที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันก็ดังเซ็งแซ่ ชาวบ้านในอดีตจึงเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า ?บ้านท่าแซ่? เพราะเสียงที่ดังเซ็งแซ่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้านที่นี่นั่งเอง ต่อมานานๆเข้าจึงเรียกเพี้ยนจาก ?บ้านท่าแซ่? กลายเป็น ?บ้านท่าแซ? ดังปัจจุบัน โดยหมู่ที่ 1 เรียกบ้านท่าแซนอก หมู่ที่ 2 เรียกบ้านท่าแซ หรือบ้านกลาง หมู่ที่ 3 เรียกบ้านท่าแซ หรือบ้านชายคลอง เนื่องด้วยมีอาณาบริเวณส่วนใหญ่ติดกับลำคลองอู่ตะเภานั่นเอง ส่วนหมู่ที่ 4 เรียกบ้านท่าไทร โดยหมู่ที่ 4 นี้ชาวบ้านต้องการตั้งชื่อของหมู่บ้านให้แปลกกว่าบ้านหมู่อื่น(เพื่อจำได้ง่าย และไม่เป็นการสับสนกับหมู่อื่น) อนึ่ง การที่ตั้งชื่อหมู่ที่ 4 ว่าบ้านท่าไทรนั้น อาจจะเป็นการระลึกถึงต้นไทรใหญ่ที่เคยยืนต้นอยู่ ณ หาดทรายแห่งนี้ก็เป็นได้
สืบตำนานประวัติชื่อหมู่บ้านมาจนรู้แจ้งในระดับหนึ่งแล้วขอวกเข้าเรื่องของวัดท่าแซกันต่อซึ่งสร้างขึ้นเป็นวัดในราวปี พ.ศ. 2329 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2499 ภายในวัดท่าแซประกอบไปด้วยอาคาร อุโบสถต่างๆมากมาย แวดล้อมไปด้วยประติมากรรมประดับตกแต่งในพระพุทธศาสนาอย่างสวยสดงดงาม ทั้งรูปประติมากรรมนารายณ์ทรงครุฑบริเวณหน้าบันอุโบสถ สัตว์ในหิมพานต์(สัตว์กระหนก) เช่น พญานาค ครุฑ หงส์ สัตว์สามัญ เช่น จระเข้ที่บริเวณท่าน้ำของวัด เป็นต้น ซึ่งในเรื่องของรูปประติมากรรมจระเข้น้ำจืดบริเวณท่าน้ำวัดท่าแซนี่เองมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่งเล่าสืบทอดกันมาว่า ในอดีตลำคลองอูตะเภายังอุดมสมบูรณ์มีจระเข้อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น เนื่องด้วยมีปลาอย่างชุกชุมทำให้วิถีทางการดำเนินชีวิตของคน และจระเข้ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน จวบอยู่มายุคหนึ่งเกิดเหตุจระเข้กินคนเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพียงเรื่องเล่า หรือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอดีตว่า.......ได้มีจระเข้ตัวหนึ่ง เล่าลือว่าเป็นจระเข้ผีสิง ขึ้นมาจากน้ำ คาบ กัดกินเด็กที่เล่นน้ำบริเวณท่าน้ำวัดท่าแซไปหลายรายจนเป็นที่ประหวั่นพรั่นพรึงของผู้คนในสมัยนั้นเป็นยิ่ง จวบจนความเจริญได้เดินทางเข้ามาสู่ชุมชนคลองอูตะเภามากขึ้น ตำนานจระเข้กินคนเลยลบหายไปกับกาลเวลาเหลือเพียงคำเล่าลือจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า......ในอดีตลำคลองแห่งนี้ยังเคยมีจระเข้ผีสิงที่ชอบกินเด็กเป็นอาหารอาศัยอยู่ หากคิดๆดูเรื่องจระเข้ผีสิงอาจจะเป็นเรื่องจริง หรือเพียงกุศโลบายที่ว่ากล่าวตักเตือนให้เด็กๆที่อาศัยอยู่ใกล้กับท่าน้ำให้เล่นน้ำอย่าระมัดระวังก็ไม่อาจทราบได้แน่ชัด ซึ่งในเรื่องนี้พระอธิการปรีชา อปฺปกิจโจ เจ้าอาวาสวัดท่าแซ(พ.ศ. 2547)ได้กล่าวเพิ่มเติมเอาไว้ว่า ?รูปงานประติมากรรมจระเข้น้ำจืดที่ปรากฏอยู่บริเวณท่าน้ำวัดท่าแซนี้ถูกปั้นขึ้นมาโดยพระสมพร ไชจิตร ปั้นเอาไว้ก่อนปี พ.ศ. 2547 เมื่อนานมาแล้ว ปัจจุบันท่านได้มรณภาพไปแล้ว งานชิ้นนี้สามารถอธิบายเรื่องราวของชุมชนแห่งนี้ในอดีตได้เป็นอย่างดี มีคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมคือ เป็นลักษณะการสร้างงานในรูปแบบของศิลปะพื้นบ้านแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยอาศัยวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือใช้จากการสร้างวัด อาทิ ปูน ลวด เหล็ก เป็นต้น บวกกับความรู้ความเข้าใจในการสร้างจระเข้น้ำจืดตามจินตนาการ ละรูปประกอบ ซึ่งรูปงานที่ได้จะบ่งบอก หรือบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตของคลองอู่ตะเภาได้เป็นอย่างดีว่าเคยมีจระเข้อยู่มาก่อน และดุร้ายมากด้วย ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะการเตือนเด็กที่จะลงไปเล่นน้ำ ถือว่าเป็นคุณค่าในทางอ้อมที่ได้รับจากรูปงานดังกล่าว?
พูดถึงเรื่องจระเข้แล้วผู้เขียนจึงขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับจระเข้ต่อเพื่อจะได้ครบองค์ความรู้เผื่อใครจะเอาไปใช้ในการต่อยอดได้ในวันข้างหน้า
จระเข้สัตว์นำขบวนกฐิน.....
จระเข้มีความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพิธีทอดกฐินที่ซึ่งจะมีการวาดรูปจระเข้ไว้ที่ผ้าขาวบ้างหรือผูกติดไว้กับไม้รวกบ้าง เรื่องที่ต้องเอาจระเข้หรือรูปจระเข้มาเข้าไปเกี่ยวข้องในพิธีทอดกฐินทุกครั้งนี้มีความเชื่อว่า นานมาแล้วมีเศรษฐีผู้ร่ำรวยด้วยเงินทองผู้หนึ่ง ฝ่ายภรยาเป็นคนใจบุญสุนทานเนื่องด้วยไม่มีลูกเต้าที่จะสืบทอดทายาทแต่อย่างใดจึงตั้งหน้าตั้งตาทำบุญทำกุศลให้ทานคนยากจนเป็นประจำ แต่เนื่องด้วยสามีเป็นคนขี้เหนียวไม่ชอบทำบุญทำทานจึงนำทรัพย์สมบัติเงินทองที่มีอยู่ไปฝังไว้ใต้สะพานข้ามคลองโดยที่ทางฝ่ายภรรยาไม่เคยรู้เรื่องเลย อยู่ต่อมาฝ่ายสามีเกิดล้มป่วยลงจนถึงแก่ความตาย ภรรยาจึงจัดการทำศพตามประเพณีเป็นอย่างดี แต่เนื่องด้วยดวงวิญญาณของสามียังเป็นห่วงอยู่กับทรัพย์สมบัติของตนที่ฝังไว้ จึงมาเข้าฝันภรรยาของตนว่าตนเองได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากทั้งทางร่างกายและทางจิตใจที่ต้องมาเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติ ซึ่งสมบัติดังกล่าวนั้นตนแอบฝังไว้ใต้หัวสะพานทั้งอาหารการกินก็อดๆอยากๆตลอดมา ขอให้ภรรยามาขุดเอาทรัพย์สมบัติของตนไปถวายวัดเสียเพื่อตนเองจะได้พ้นเวรพ้นกรรมในชาตินี้ รุ่งขึ้นฝ่ายภรรยาระดมความช่วยเหลือจากชาวบ้านไปขุดทรัพย์สมบัติขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก จึงทำการขนทรัพย์สมบัติเหล่านั้นลงเรือเพื่อจะนำไปถวายเป็นกฐินทาน ครั้งเรือพายแล่นไปตามกระแสน้ำภรรยาเศรษฐีก็ร้องบอกจระเข้ที่ซึ่งนางเชื่อว่าเคยเป็นสามีของนางในภพก่อนให้ตามไปด้วย แต่เนื่องด้วยจระเข้ไม่ได้กินอะไรมานานหลายวันจึงทำให้หมดแรงและสิ้นใจตายก่อนที่จะถึงวัด ท่านเจ้าอาวาสจึงใช้ให้คนที่มีฝีมือในการวาดภาพวาดรูปจระเข้ลงในผืนผ้า เพื่อแสดงว่าจระเข้เจ้าของทรัพย์ในภพที่เกิดเป็นมนุษย์ได้นำพาทรัพย์เหล่านั้นมาถวายเป็นองค์กฐินแล้ว จนกลายมาเป็นตำนานและประเพณีสืบทอดที่หากมีการทอดองค์กฐินครั้งใดก็จะวาดรูปจระเข้ลงบนฝืนผ้าด้วยทุกครั้งไป แขวนกิ่งไม้เป็นสัญลักษณ์สืบแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้
จระเข้สัตว์พาหนะของพระเป็นเจ้า?..
เรื่องจระเข้เป็นสัตว์พาหนะของพระเป็นเจ้านี้ เป็นความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าทางศาสนาของอินเดีย กล่าวคือ เดิมทีจระเข้เป็นราชพาหนะของพระอิศวรเจ้าแต่อยู่มาวันหนึ่งจระเข้เกิดไปกินมนุษย์เข้า พระอุมามเหสีของพระอิศวรจึงมีคำสั่งให้นำจระเข้ไปทรมานโดยให้ผูกล่ามโซ่ไว้ให้อดอาหารนานหลายวัน นอกจากนี้พระอุมายังได้นำเอาขมิ้นโยนใส่ปากของจระเข้ตัวดังกล่าวแล้วเสกให้ขมิ้นกลายเป็นกงจักรตัดลิ้นของจระเข้จนขาดสะบั้นลงมิอาจรู้รสชาติของอาหารได้ ครั้งกาลต่อมาจระเข้จระเข้ได้รับการอภัยโทษ ?มีทำหน้าที่เป็นพระราชพาหนะของพระแม่อุมา นำพระแม่อุมาประทับบนหลังท่องเที่ยวไปอย่างสุขสำราญในโลกที่พระพรหมสร้างขึ้นมาใหม่ จะเห็นได้ว่าจระเข้จะให้ความเคารพต่อพระแม่อุมาเป็นอย่างมาก ทุกครั้งก่อนที่มันจะกินอาหารเข้าปากไป มันจะคาบอาหารชิ้นนั้นชูขึ้นเหนือน้ำเพื่อบูชาพระแม่อุมาก่อนแล้วจึงจะคาบหายจมลงไปทุกครั้ง
ทวดจระเข้? กับคติทางความเชื่อในแบบไทยถิ่นใต้.....
จระเข้(crocodile) คำๆนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542หน้า 290 อธิบายความหมายเอาไว้ว่า ?จระเข้(จอระ-) น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในวงศ์Crocodylidae อาศัยบริเวณปากน้ำ หนังเป็นเกล็ดแข็งปากยาวและปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูกเรียกว่า ก้อนขี้หมา หางแบนยาวใช้โบกว่ายน้ำ มักหากินในน้ำ ในประเทศไทยมี 3 ชนิดคือ 1.จระเข้บึง จระเข้น้ำจืด หรือจระเข้สยาม(crocodylus siamensis) 2.จระเข้อ้ายเคี่ยม หรือจระเข้น้ำเค็ม(c. porosus) และ 3.จระเข้ปากกระทุงเหว หรือตะโขง(tomistoma schlegelii) ,ตะเข้ หรือ อ้ายเข้ ก็เรียก,อีสานเรียก แข้,ปักษ์ใต้เรียก เข้?
สวนสัตว์สงขลา อธิบายความหมายและรูปลักษณะของจระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้อ้ายเคี่ยม ว่า ?จระเข้น้ำเค็ม ชื่อสามัญ salt-water crocodile ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของจระเข้น้ำเค็มเรียกว่า crocodylus porosus ปากมีลักษณะเรียวยาวไม่มีเกล็ด 4 เกล็ดบนท้ายทอย ขนาดยาวเฉลี่ยประมาณ 5.50 เมตร น้ำหนักประมาณ 600 กิโลกรัม สีลำตัวค่อนไปทางสีเหลืองอ่อน มีนิสัยดุร้ายและเป็นอันตรายต่อคน จัดเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หากโตเต็มที่จะยาวประมาณ 9 เมตร ถิ่นอาศัยบริเวณน้ำกร่อยแถวปากแม่น้ำ ป่าชายเลนซึ่งเป็นน้ำนิ่งและลึกพอประมาณ พบกระจายตั้งแต่ชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่าไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนอาหารของจระเข้น้ำเค็มคือ จระเข้ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมูป่า สมเสร็จ เป็นต้น? จระเข้ คือสัตว์ขนาดกลาง เป็นสัตว์ประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำที่คนไทยเราทุกยุคทุกสมัยรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจระเข้ร้ายที่ชื่อ ?ชาละวัน? อันเป็นตัวเด่นในเรื่อง ?ไกรทอง? ซึ่งชาละวันนี้เองเป็นจระเข้ที่สามารถแปลงกายให้เป็นคนก็ได้ จัดเป็นจระเข้เจ้าที่ฤทธิ์มาก แต่ถึงจะมีฤทธิ์มากอย่างไรเสียก็มาพ่ายแพ้ให้แก่ความเก่งกล้าสามารถของ ?ไกรทอง? หมอจระเข้หนุ่มฝีมือดีเมืองพิจิตรอันเป็นพระเอกในเรื่อง นอกจากชาละวันแล้วจระเข้ที่มีผู้นิยมกล่าวถึงมากอีกตัวหนึ่งก็คือ ?ไอ้ด่างเกยชัย? หรือ ?ไอ้ด่างคลองบางมุด? อันเป็นจระเข้ขนาดยักษ์ ออกอาละวาดไล่กัดกินคนเป็นอาหารในช่วงปี พ.ศ.2507 ในพื้นที่คุ้งน้ำละแวกคลองบางมุด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ไอ้ด่างคลองบางมุดเป็นจระเข้ที่ชาญฉลาดมันรู้ว่าเมื่อไรควรออกล่าและเมื่อไรควรหลบหนี ชาวบ้านคลองบางมุดถึงกับขนานนามให้มันว่า ?จระเข้ปีศาจ? หรือ ?จระเข้ผีสิง? เลยทีเดียว ในหนังสือ ?ชีวิตสัตว์ป่านานาชนิด? ของ ?ตัณติมา ประภาวิชัย? หน้า 78-81ได้กล่าวอ้างถึงนักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เมริกัน ว่า ?เมริกันได้กล่าวว่าจำพวกจระเข้มีด้วยกัน 6 ชนิดคือ 1.อัลลิกาเตอร์(alligator) 2.ไกมัน(caiman) 3.โกรโกไดลัส(crocodiles)4.โอสติโอเลมัส(osteolemus) 5.กาไวเอลิส(cavialis) 6.โตมิสโตมา(tomistoma)
จระเข้ในเมืองไทยเป็นแบบโกรโกได เนื่องด้วยมีความยาวของกระดูกกรามได้ 1 เท่าครึ่ง ขนาดกว้างของต้นกรามประเภทหนี่ง และอีกประการหนึ่งนั้นเขี้ยวยาวของมันพ้นขึ้นไปเหนือกรามข้างบน โดยเฉพาะจระเข้ที่อาศัยอยู่ตามปากน้ำรอยต่อของทะเลจะมีขนาดใหญ่ที่สุดคือยาวถึง 20 ฟุตเลยทีเดียว? ทวด(tuad) หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ซึ่งชาวไทยถิ่นใต้และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ในหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอันเรียกตนเองว่า ?ไทยสยาม? ให้ความเคารพนับถือเป็นประหนึ่งผีบรรพบุรุษ หรือดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อันนำมาสู่ความเจริญงอกงาม ในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้พุทธศักราช 2525 หน้า165 ได้ให้ความหมายของคำว่าทวดว่า ?ทวด หมายถึง
1.พ่อ แม่ ของปู่ ย่า ตา ยาย,บรรพบุรุษ หรือผู้มีบุญวาสนาที่ล่วงลับไปแล้ว
2.สัตว์ที่มีอายุมาก ตัวใหญ่ หรือมีลักษณะพิเศษเชื่อว่าเป็นพญาสัตว์ ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์
เช่น จระเข้ทวด งูทวด ช้างทวด เสือทวด เป็นต้น? นอกจากนี้ในหนังสือเรื่อง ?ศึกษาพัง ในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา? หน้า 64 ของ ?ทรงพรรณ สังฆะโต? ยังได้อธิบายความหมายของคำว่าทวดไว้เพิ่มเติมว่า ?ทวด หมายถึง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเชื่อถือ เช่น ภูติผีปีศาจ
เทวดา โดยมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะสามารถดลบันดาลให้เกิดความสุขหรือทุกข์ภัยแก่มนุษย์ได้หากผู้ใดปฏิบัติได้ถูกต้อง ความเคารพต่อสิ่งที่ตนเองนับถือก็จะเกิดผลดี แต่หากผู้ใดดูหมิ่นหรือล่วงละเมิดก็จะดลบันดาลให้เกิดผลร้าย? ?ทวดจระเข้? หรือ ?จระเข้ทวด? จัดเป็นทวดในอีกรูปลักษณะหนึ่ง เป็นประเภททวดครึ่งเทวดาครึ่งสัตว์ ซึ่งในคติทางความเชื่อในแบบไทยถิ่นใต้ล้วนเชื่อกันว่าเป็น?จระเข้ศักดิ์สิทธิ์? หรือ ?เข้เจ้า? (จระเข้เจ้า) อันมีดวงวิญญาณของบรรพชนสถิตอยู่ มีอำนาจที่จะสามารถให้คุณแก่ผู้ทำการสักการบูชาและให้โทษแก่ผู้ทำการลบหลู่ดูหมิ่นได้ เป็นต้น รูปลักษณะของทวดจระเข้ จากคำเล่าลือรวมถึงตำนานชาวบ้านเล่าปากต่อปากรุ่นสู่รุ่นมาว่า ทวดจระเข้มีลักษณะเป็นจระเข้ใหญ่ มีดวงตาเป็นสีแดงสุก หากได้จ้องมองในยามค่ำคืนจะดูคล้ายเปลวไฟสองดวงลุกไหม้แลดูน่าเกรงขาม ทวดจระเข้มีลักษณะของส่วนลำตัวที่ใหญ่และยาวมากตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวเลในจังหวัดสงขลาว่า ทวดหัวเขาแดง ที่แสดงอยู่ในรูปของจระเข้ใหญ่นั้นมีลักษณะที่ใหญ่มากพอๆกับเรือหาปลา แต่ครั้งพอจ้องมองดูไปนานๆเข้าทวดก็จะหายไปกับความมืด นอกจากนี้ในตำนานของทวดเรียม หรือทวดคลองนางเรียมซึ่งเป็นทวดที่แสดงอยู่ในรูปของจระเข้ใหญ่ด้วยเช่นเดียวกันนั้นก็ปรากฏว่าเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่มากโดยมีความยาวจากหัวจรดปลายหางเท่ากับความกว้างของคลองนางเรียมพอดี จึงพอสรุปได้ว่ารูปลักษณะของทวดจระเข้นั้นจะมี 2 สิ่งที่แตกต่างจากจระเข้โดยทั่วไปคือ 1.ทวดจระเข้มีขนาดใหญ่กว่าจระเข้ในแบบธรรมดามาก 2.ทวดจระเข้มีดวงตาเป็นสีแดงสุกคล้ายเปลวไฟลุกไหม้อายุของทวดจระเข้ในเรื่องอายุของทวดจระเข้หรือจระเข้ทวดนี้ดูจะคล้ายๆกันกับงูทวดกล่าวคือ เนื่องด้วยชาวไทยถิ่นใต้ล้วนมีคติทางความเชื่อว่าเมื่อเกิดเป็นทวดจระเข้แล้วก็จะดำรงคงเป็นทวดจระเข้ตลอดไป ดวงวิญญาณไม่มีวันดับสลายหรือแตกสลายหายไปแต่ประการใด อายุของทวดจระเข้ก็จะเพิ่มทวีขึ้นไปเรื่อยๆไม่มีวันแตกดับและยังคงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยถิ่นใต้ให้ความเคารพสักการบูชาเรื่อยมาจวบจนยุคปัจจุบันถิ่นที่อยู่ของทวดจระเข้ สำหรับในเรื่องถิ่นที่อยู่หรือที่สถิตของทวดจระเข้นี้ก็ปรากฏเป็นคติทางความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ชาวบ้านตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทวดหัวเขาแดง สถิตอยู่ในบริเวณทะเลปากน้ำเมืองสงขลา ชาวบ้านตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทวดคลองนางเรียมสถิตอยู่ในบริเวณคลองนางเรียม ชาวบ้านตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทวดแหลมจาก สถิตอยู่ในบริเวณถ้ำใหญ่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 1 อันถือเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านบริเวณควนท่าข้าม หรือ ควนพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เชื่อว่าทวดท่าข้าม หรือ พญาท่าข้าม สถิตอยู่ในบริเวณควนท่าข้าม และในแม่น้ำตาปี หรือ แม่น้ำหลวง เป็นต้น ทวดจระเข้ อำนาจความศักดิ์สิทธิ์และการบวงสรวงบูชา เป็นความเชื่อเฉพาะถิ่นใต้ว่าการบูชาทวดจระเข้จะก่อให้เกิดโชคลาภนานับประการ อาทิ คนที่มีอาชีพหาของป่าหากบูชาทวดจระเข้ก็เชื่อว่าจะทำให้หาของป่าได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิม คนที่ออกทะเลหาปลาหากบูชาทวดจระเข้ก็จะทำให้สามารถหาปลาได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าทวดจระเข้จะช่วยคุ้มครองและปกป้องให้แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆนานารอบด้าน ส่วนการบวงสรวงบูชาทวดจระเข้นั้นก็มีความเชื่อที่เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้างออกไปในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ชาวบ้านตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จะทำกรบวงสรวงบูชาทวดหัวเขาแดงด้วยการลอยหมากพลู หรือจุดประทัด ชาวบ้านตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะทำการบวงสรวงบูชาทวดคลองนางเรียมด้วยการลอยหมากพลูลงในคลองนางเรียม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการจุดประทัดแต่ประการใด ส่วนการบูชาทวดจระเข้ในสถานที่อื่นๆนิยมการตั้งเครื่องเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน หมากพลู ข้างตอกดอกไม้แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคลไป ตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับทวดจระเข้ ตำนาน(legend) หมายถึงเรื่องราวอันมีมานมนานและเล่าขานสืบทอดต่อๆกันมาโดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเข้าทำนองประวัติศาสตร์ ประวัติต่างๆที่ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งเนื้อเรื่องในบางตอนอันเกี่ยวข้องกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เข้าไปด้วยเพื่อตอบสนองความเชื่อและพลังศรัทธาเชื่อถือในตำนานบทนั้นๆ ซึ่งในเรื่องตำนานเล่าขานเกี่ยวกับทวดจระเข้ก็ปรากฏพบว่าเกิดรูปแบบทางความคิด รูปแบบทางความเชื่อที่ซึ่งแพร่หลายในสังคมของชาวไทยถิ่นใต้ ในทิศทางที่สอดคล้องสัมพันธ์กันบ้างขัดแย้งกันบ้าง ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอรูปแบบทางความคิดรูปแบบทางความเชื่อในแง่ตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับทวดจระเข้ที่ซึ่งแพร่สะพัดในสังคมของชาวไทยถิ่นใต้ไว้เพื่อสำหรับเป็นกรณีศึกษาแก่ท่านผู้สนใจสักเล็กน้อย ดังต่อไปนี้
ทวดแหลมจาก
เป็นความเชื่อของชาวบ้านตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
ตำนานทวดแหลมจากมีดังนี้กล่าวคือ ภายในอาณาบริเวณของหมู่ที่ 1 ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่ามีถ้ำใหญ่อยู่แห่งหนึ่งที่ซึ่ง ณ ถ้ำแห่งนี้เองชาวบ้านล้วนเชื่อกันว่าภายในถ้ำมีทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ถ้วยชามที่เป็นทองคำฝังเอาไว้อยู่ภายในเป็นจำนวนมาก และภายในถ้ำนี้เองปรากฏว่ามีจระเข้ใหญ่ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นจระเข้เจ้าและศักดิ์สิทธิ์
พร้อมทั้งขนานนามให้ว่า ?ทวดแหลมจาก? มีหน้าที่เฝ้าปกปักรักษาทรัพย์สมบัติดังกล่าวอยู่ คนแต่ครั้งโบราณหรือชาวบ้านในสมัยก่อนจะสามารถเข้าไปหยิบยืมทรัพย์สมบัติต่างๆของทวดแหลมจากได้แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องนำมาคืนในระยะเวลาที่กำหนด ครั้งกาลต่อมามีคนพาลเข้าไปหยิบยืมทรัพย์ของทวดแล้วไม่ได้นำไปคืนให้ ทวดแหลมจากจึงโกรธและปิดถ้ำลงด้วยหินก้อนขนาดใหญ่ตรงบริเวณปากทางเข้าถ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครสามารถเข้าไปหยิบยืมทรัพย์สมบัติของทวดได้อีก แต่ชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวก็ยังเชื่อว่าทวดแหลมจากในรูปของจระเข้ทวดขนาดใหญ่ยังคงสถิตอยู่ภายในถ้ำแห่งนั้น
ทวดท่าข้าม หรือ ทวดพญาท่าข้าม
เป็นความเชื่อของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำนานทวดท่าข้าม หรือทวดพญาท่าข้าม มีดังนี้กล่าวคือ เชื่อกันว่าทวดท่าข้ามเป็นจระเข้ใหญ่มีถิ่นที่อยู่อาศัยภายในบริเวณวังน้ำของควนท่าข้าม หรือควนพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวกันว่าทวดท่าข้ามเป็นเทวดากึงสัตว์มีฤทธิ์เดชแก่กล้าสามารถ ยามใดที่แผดเสียงคำรามฟ้าดินจะสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งบาง อยู่มาวันหนึ่งทวดท่าข้ามคิดถึงสาวคนรักนาม ?แม่ศรีขวัญทอง? อันเป็นนางพญาจระเข้มีที่สถิตอยู่ ณ วังวนตรงบริเวณปากคลองอีปันซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี(แม่น้ำหลวง) เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วทวดท่าข้ามจึงได้กระโจนลงน้ำแหวกว่ายกระแสธารเดินทางไปหาแม่ศรีขวัญทองในทันที แต่ปรากฏว่าขณะเดียวกันนั้นเอง ?ทวดยอดน้ำ? หรือ ?พญายอดน้ำ? ซึ่งเป็นงูทวดขนาดใหญ่(บ้างก็ว่าเป็นงูเทวดา) ก็เกิดมาชอบพอกับแม่ศรีขวัญทองอยู่เช่นเดียวกัน จึงเกิดการต่อสู้นองเลือดของสองพญาสัตว์ขึ้น หลายวัน หลายคืน นานเข้าจนน้ำในลำคลองขุ่นข้นไปด้วยกระแสโลหิตของพญาสัตว์ทั้งสอง ในที่สุดทวดยอดน้ำเริ่มอ่อนแรงลงจนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และจำต้องล่าถอยกลับไป เนื่องด้วยสายโลหิตอันแดงฉานที่ปกคลุมบริเวณพื้นที่ดังกล่าวยังผลให้พื้นดินเปลี่ยนเป็นสีแดงจึงได้ชื่อ ?บ้านย่านดินแดง? หรืออำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน ทวดยอดน้ำ หรือ พญายอดน้ำ นั้นคนโบราณแทนด้วยลำคลองอีปันอันคดเคี้ยวไหลลงมาจากภูเขา ฤดูน้ำหลากน้ำจะเชี่ยวกรากเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สัญจรโดยทางเรือ ทวดท่าข้าม หรือ พญาท่าข้าม แทนด้วยแม่น้ำตาปี(แม่น้ำหลวง) ส่วนแม่ศรีขวัญทองอันเป็นนางพญาจระเข้นั้นแทนด้วยจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองสายนัยจะบอกให้รู้ว่าคลองอีปันหรือทวดยอดน้ำนั้นพ่ายแพ้ถอยล่นกลับไปเพราะช่วงฤดูน้ำหลากมีแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียงเท่านั้น
ทวดโต๊ะหินขวาง
เป็นความเชื่อของชาวจังหวัดกระบี่ เรื่องราวของตำนานทวดโต๊ะหินขวางมีดังนี้กล่าวคือ นานมาแล้วในจังหวัดกระบี่มีชายยากจนคนหนี่งชื่อ ?สูเฉม? มีอาชีพจับปลาในคลองกระบี่ใหญ่(คลองใหญ่) สูเฉมทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็งเรื่อยมา จนในที่สุดก็พบรักกับสาวงามนามว่า ?สูฝาย? แต่เนื่องด้วยสูเฉมมีฐานะยากจนไม่มีเงินทองพอที่จะไปสู่ขอสาวคนรักได้ จึงได้เดินทางมาทำการ ?บน? ต่อศาล ?โต๊ะหินขวาง? อันเป็นศาลเจ้าเล็กๆตั้งอยู่ริมคลองกระบี่ใหญ่ ซึ่งตรงกลางของคลองกระบี่ใหญ่นี้เองมีแนวหินดานพาดผ่านร่องน้ำจึงได้ชื่อตามลักษณะปรากฏว่า ?หินขวาง? สูเฉมทำการบนบานต่อศาลโต๊ะหินขวางว่า ต้องการขอให้เจ้าที่ซึ่งก็คือ ?ทวดโต๊ะหินขวาง? ทำการช่วยขอให้ตนนั้นจับปลาได้ในปริมาณมากๆ เพื่อจะได้นำไปขายได้เงินมาแต่งงานกับสาวคนรักได้ ในขณะเดียวกันนั้นเองลึกลงไปจนสุดก้นคลองอันเป็นวังน้ำลึกมีจระเข้น้อยใหญ่อาศัยอยู่หลายพันตัว ตัวที่เป็นเจ้าที่เจ้าวังดังกล่าวปรากฏกายในรูปลักษณ์ของจระเข้ใหญ่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นทวดจระเข้ หรือจระเข้เจ้า เรียกว่า ?ทวดโต๊ะหินขวาง? ซึ่งทวดโต๊ะหินขวางเองก็รับรู้ถึงแรงอธิษฐานของสูเฉมดีจึงนำพาบริวารนับได้หลายพันตัวช่วยกันไล่ต้อนปลาในคลองกระบี่ใหญ่มารวมกันบริเวณโต๊ะหินขวาง ฝ่ายสูเฉมจึงตั้งจิตอธิษฐานต่อว่าหากปลาตัวใดถึงที่ตายแล้วก็ขอให้ว่ายขึ้นมาบนโต๊ะหินขวาง ในที่สุดสูเฉมก็สามารถตักปลาได้จนเต็มลำเรือเมื่อนำปลาไปขายแล้วสามารถมีเงินมากพอที่จะไปสู่ขอสาวคนรักได้ หลังจากนั้นผู้คนก็นิยมมาบนบานต่อศาลโต๊ะหินขวางกันอย่างแพร่หลาย
ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องจระเข้ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน
จระเข้กับความฝัน
ในตำราทำนายฝันเชื่อกันว่าถ้าฝันเห็นจระเข้ตาย จะมีเคราะห์ร้ายเข้ามาหาตัว เพื่อนสนิทจะคิดร้ายและทรัพย์สินจะเสียหาย หากถูกจระเข้กัดอย่าให้จิ้งจกเลียแผล เชื่อว่าหากถูกจิ้งจกเลียแผลแล้วจะตาย จระเข้กับก้อนหินในท้อง เชื่อกันว่าหากจระเข้เดินทางผ่านวังน้ำใดก็ตามแต่ มันจะต้องกลืนก้อนหินขนาดเท่าไข่ไก่กลมเกลี้ยงไว้ในท้อง 1 ก้อน ดังนั้นหากทำการผ่าท้องของจระเข้ออกมาแล้วพบก้อนหินจำนวนเท่าใด ก็เชื่อกันว่าก้อนหินจะเป็นตัวบ่งบอกว่าจระเข้ตัวนั้นได้เคยเดินทางผ่านวังน้ำมาแล้วเป็นจำนวนเท่ากับก้อนหินในท้องของมัน หินในท้องของจระเข้ เชื่อกันว่าหากเอาหินที่ได้จากท้องของจระเข้ไปใส่ลงในตุ่มน้ำจะทำให้ปลอดภัยจากโรคห่า(อหิวาตกโรค)รวมถึงโรคมาลาเรีย,โรคไข้ป่า เป็นต้น
*****อ้างอิงจากหนังสือ ?ทวด? ในรูปสัตว์ (ทวดงู,ทวดจระเข้,ทวดช้าง และทวดเสือ) ของ ?คุณาพร ไชยโรจน์?
*******เขียน,เรียบเรียง คุณาพร ไชยโรจน์
*******ถ่ายภาพประกอบ กิตติพร ไชยโรจน์
http://www.siamsouth.com/smf/index.php?board=11.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น