วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญ ที่ชาวพุทธเริ่มลืมเลือน


วันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญ ที่ชาวพุทธเริ่มลืมเลือน

วันอัฏฐมีบูชา



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอมขอขอบคุณภาพประกอบจาก dhammajak.net

           วันอัฏฐมีบูชา คือวันอะไร ตรงกับวันที่เท่าไหร่ ปัจจุบันแทบไม่เห็นปรากฎบนปฏิทิน ทำให้ วันอัฏฐมีบูชา นับวันยิ่งถูกลืม ทั้งที่ วันอัฏฐมีบูชา เป็น วันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่นับจาก วันวิสาขบูชา ไปเพียง 8 วัน หรือกล่าวคือ วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ทั้งนี้ หากปีใดมีอธิกมาส หรือมี 366 วัน วันอัฏฐมีบูชา ก็จะถูกเลื่อนไปตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 แทน นั่นเอง

             วันอัฏฐมีบูชา คือวันอะไร มีความสำคัญอย่างไร
           สำหรับ วันอัฏฐมีบูชา หรือ วันอัฏฐมี คือ วันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน โดยมีการทำพิธี ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ประเทศอินเดีย ซึ่งเมื่อครั้งโบราณกาล วันอัฏฐมีบูชา นับเป็นวันที่ชาวพุทธมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง

           ด้วยเหตุนี้ เมื่อ วันอัฏฐมีบูชา เวียนมาบรรจบในแต่ละปี พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นการเฉพาะเมื่อวันสำคัญนี้ เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ

            ประวัติ วันอัฏฐมีบูชา

           ตามประวัติ วันอัฏฐมีบูชา ระบุไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละ ในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ก็จัดพิธีบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง
           จากนั้น ก็ให้พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ ทั้งที่ได้ทำตามคำของพระอานนท์เถระ ที่ให้ห่อพระสรีระพระพุทธเจ้าด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด

           ในการนี้ พระอนุรุทธะ จึงแจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" ทั้งนี้ เนื่องจากเทวดาเหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูป โดยมีพระมหากัสสปะเ ป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด

           หลังจากที่พระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระพระบรมศาสดาดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตร อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น

           และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจาก "โทณพราหมณ์" พราหมณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยประกาศว่า

           "พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิง พระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์ผู้ประเสริฐ ย่อมไม่สมควร ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น 8 ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก"   

           เมื่อ โทณพราหมณ์ ได้เสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน กษัตริย์แต่ละเมืองก็ยอมรับแต่โดยดี และกลับไปสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองของตัวเอง ดังนี้
            1. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี

            2. กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์

            3. กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ

            4. กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม

            5. มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ

            6. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา

            7. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์

            8. มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา

           9. กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่เมืองปิปผลิวัน

            10. โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก, คำว่า ตุมพะ แปลว่า ทะนาน, บางทีเรียกสถูปนี้ว่า ตุมพสถูป)

            การประกอบพิธี วันอัฏฐมีบูชา
           ปัจจุบันการประกอบพิธี วันอัฏฐมีบูชา ในประเทศไทย มีเพียงบางวัดเท่านั้นที่จะที่จัดให้มีการทำพิธีบำเพ็ญกุศลในวันนี้ เช่น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เป็นต้น โดยการบำเพ็ญกุศลในวัน อัฏฐมีบูชา จะปฏิบัติอย่างเดียวกันกับการประกอบพิธีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันอื่น ๆ ที่มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ

           อย่างไรก็ดี บางวัดในบางจังหวัด ยังมีการนิยมบำเพ็ญกุศลเนื่องใน วันอัฎฐมีบูชา นี้อยู่บ้าง บางแห่งถึงกับจัดเป็นงานใหญ่ มีการจำลองเหตุการณ์วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาลด้วย เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งในทุก ๆ ปี จะมีประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงเข้าชมเป็นจำนวนมาก

           คำถวายดอกไม้ธูปเทียนใน วันอัฏฐมีบูชา
           ยะ มัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา,

           อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ.

           อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.

           สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
dhammajak.net , 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น