อีกมุมหนึ่ง ณ ดอยอ่างขาง กับแหล่งดูนกนานาพันธุ์
อีกมุมหนึ่ง ณ ดอยอ่างขาง กับแหล่งดูนกนานาพันธุ์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ มอมแมม 777 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
นอกจากความงดงามของทิวเขา ธรรมชาติ ดอกไม้ พรรณไม้ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว บน"ดอยอ่างขาง" หรือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีสิ่งที่หลาย ๆ คนไม่คิดว่าจะได้พบเจอ นั่นคือ เหล่าบรรดานกนานาพันธุ์ ที่มักบินมาเพิ่มความงดงามให้กับดอยแห่งนี้ และถ้าหากใครยังนึกภาพไม่ออกก็ตามบันทึกการเดินทาง พร้อมภาพถ่ายสวย ๆ ของ คุณ มอมแมม 777 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ขึ้นไปบนดอยอ่างขาง เพื่อส่องนกนานาชนิดกันเลยจ้า ...
อ่างขาง...เป็นอีกดอยหนึ่งที่เหล่าพลพรรคนักถ่ายนกชอบไปแวะเวียนกัน เป็นแหล่งนกท้องถิ่น และนกอพยพที่สำคัญแห่งหนึ่งสำหรับบ้านเราครับ ผมมีเวลาเพียงแค่ 2 คืน จึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่อ่างขางที่ไปทั้งสะดวกและลุกนั่งสบาย โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นชิ้นเป็นอัน...เพียงแต่หวังลึก ๆ ว่า จะพบเห็น "นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น" กับเค้าบ้าง
นกพันธุ์นี้...ผมเคยพบครั้งหนึ่งแล้วที่เขาใหญ่เมื่อหลายปีที่แล้วครับ แต่ครั้งนี้...ตัวที่พบเห็นนี่เป็นตัวที่ยังไม่เต็มวัยนัก
ภาพข้างล่างนี่เป็นภาพโตเต็มวัยแล้ว
ป.ล. ต้องขออภัยด้วยที่ภาพนี้อึดอัดไปนิดนึงครับ แหะ ๆ สมัยก่อนนั้นยังนิยมถ่ายมาโครนกอยู่
นกตัวที่ 2 ... แทบจะเป็นนกประจำถิ่นบนอ่างขางไปแล้วครับ เพราะทุกปีในช่วงอพยพนี่จะพบนกพันธุ์นี้ได้ค่อนข้างง่ายบนนี้...ตัวนี้เป็นเพศผู้
ปีนี้...นกเดินดงอกดำพากันเข้ามาเยอะครับ เฉพาะบริเวณที่ผมไปนั่งคอยถ่ายรูปนี่ก็ 4-5 ตัว เข้าไปแล้ว ตัวนี้เป็นเพศเมียครับ...
เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เดินดงอีกพันธุ์หนึ่งที่ผมอยากเห็นนักหนา ก็คือ เดินดงลายเสือ ครับ สมัยนั้นกว่าจะได้เห็น กว่าจะได้ถ่ายรูปสักรูป เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็นกันทีเดียว ผมต้องตามกว่า 2 ปี ถึงจะได้รูปนกเดินดงลายเสือมาเก็บเป็นที่ระลึก...แต่ปีนี้เยอะครับ เยอะขนาดผมจอดรถแล้ว นกอยู่ห่างจากล้อรถผมไม่ถึง 2 เมตร และไม่หนีไปไหนด้วยครับ จนกระทั่งผมลงจากรถนั่นแหละ พวกถึงได้บินไปเกาะที่กิ่งไม้ใกล้ ๆ เป็นครั้งแรกที่เห็นเดินดงลายเสือบินสูงขนาดนั้นครับ
นกตัวที่ 5 ... ไหน ๆ ก็เริ่มจากนกเดินดงกันแล้ว...ผมขอต่อไปด้วยเดินดงอีกพันธุ์หนึ่งนะครับ เพียงแต่ชื่อไทยไม่เรียกว่าเดินดง กลับเรียกว่า "นกกระเบื้องท้องแดง" ซะนี่ ตัวนี้เป็นเพศผู้ครับ
อย่างที่ผมเคยกล่าวเอาไว้ที่ไหนสักแห่งครับว่า...นกตัวผู้ส่วนใหญ่จะหล่อกว่าตัวเมีย (เหตุผลทางธรรมชาติทางเพศ) ดังนั้น รูปนี้เป็นกระเบื้องท้องแดงตัวเมีย ที่สีสันสู้ตัวผู้ไม่ได้เลยครับ แต่ผมว่าลวดลายเธอสวยกว่านะ
นกตัวที่ 7 ... จัดว่าเป็นนกรับแขกของดอยอ่างขางก็ว่าได้ครับ ทุกปีจะต้องเจอเขาผู้นี้ ไม่เคยเกรงกลัวผู้คน แต่กลัวนกตัวอื่น...อิอิ "นกเขนสีฟ้าหางขาว"
นกตัวที่ 8 ... และรูปนี้เป็นเพศเมียครับ ไม่หล่อเลย แต่สวย อิอิ
นกตัวที่ 9 ... จัดว่าเป็นนกที่ถ่ายยากถ่ายเย็นเสียนี่กระไร ยากจนกระทั่งผมเคยยอมแพ้ไปหลายหนแล้วครับ เพราะพวกเดินบนต้นไม้เร็วมาก และสูงมากเสมอ นกเคลื่อนที่ไป 2 ก้าว เราต้องเดินแบกอุปกรณ์ตาม 5 เมตร นกบินข้ามต้นไม้ 2 ต้นเราต้องวิ่งตามร่วม 10 เมตร ยอมแพ้ครับ...ยอมแพ้ ถ่ายได้ก็เหลือตัวจี๊ดเดียวเอง..."นกไต่ไม้โคนหางสีน้ำตาล" จนกระทั่งครั้งนี้...ยืนอยู่เฉย ๆ พวกกลับมาเกาะข้างหน้าเสียอย่างนั้นเอง ขนาดนี้ยังกดแทบจะไม่ทัน...หุหุ...ไม่สวยครับ แต่ดีใจ
นกตัวที่ 10 ... นกอีกตัวที่ผมไม่เคยถ่ายได้เลย เพราะพวกไม่ค่อยยอมลงมาต่ำ ๆ พบเห็นทีไรก็โน้น สุดยอดเสียทุกทีไปครับ หนนี้ลงมาต่ำพอให้ถ่ายเก็บเป็นที่ระลึกได้บ้าง หุหุ...ไม่สวยอีกเช่นเคย แต่ดีใจครับ..."นกพญาไฟแม่สะเรียง"
นกที่น่ารักมาก ๆ อีกตัวหนึ่งที่เห็นเมื่อไรก็อดถ่ายไม่ได้ครับ... "นกกระรองทองแก้มขาว"
นกตัวที่ 12 ... เที่ยวนี้...ผมโชคดีที่ไปพอดีกับช่วงดอกพญาเสือโคร่งออกพอดีครับ ผมอยากถ่ายนกน่ารัก ๆ กับดอกไม้งาม ๆ มานานแล้ว ครั้งนี้เลยถือโอกาสจอดรถข้างถนน ส่องกันตรงนั้นแหละครับ รถวิ่งมาคันนึงนกก็แห่หนีเข้าป่าไปทีนึง พอรถเงียบ...นกก็ออกมาลิ้มรสน้ำหอมจากเกสรดอกไม้กันอีก...ดีที่รถไม่ค่อยเยอะนัก...แต่กระนั้นก็ยืนกันจนเมื่อยเหมือนกัน...อิอิ "นกแว่นตาขาวสีข้างแดง"
นกอีกตัวที่ตามถ่ายมาหลายครั้งแล้ว...แต่ไม่เคยได้ดีสักที "นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า" มาเร็ว...ไปเร็ว...จัดว่าเป็นตัวกินเมมฯ อีกตัวหนึ่งเลยครับ ถ่ายไปถ่ายไป...เผลอ ๆ ก็ Card full แบบไม่รู้ตัว...หุหุ
นกตัวที่ 14 ... นกที่ผมไม่ชอบถ่ายเลย คือ นกสีขาวดำครับ ไม่ใช่ไม่อยากถ่ายนะ แหะๆ แต่มันถ่ายยาก มันไม่อันเดอร์ ก็โอเว่อร์...แย่จังครับ ตัวนี้สีขาวดำ "นกอุ้มบาตร" ขออภัยด้วยนะครับ...อุ้มบาตรพันธุ์ไหนก็จนด้วยเกล้าครับ...แหะ ๆ
ตัวที่ 15 ... นกรับแขกอีกตัวหนึ่ง (จากหลาย ๆ ตัว) ของอ่างขาง "นกติดใหญ่”
ผมเคยวิ่งแบกอุปกรณ์ไล่ตาม "นกยอกหญ้าสีเทา" อยู่พักใหญ่ครับ ด้วยอายุปูนนี้...ขอบอกว่าเหนื่อยครับ เดินลงเนินก็พอไหวละ แต่ตอนเดินกลับนี่สิ หุหุ...เมื่อกี้เดินลงไปนิดเดียว...ทำไมตอนเดินขึ้นมันไกลนัก
ตัวที่ 17... (มั้ง...) สมัยแรก ๆ ตอนที่เริ่มถ่ายรูปนกใหม่ ๆ เคยถามพรรคพวกว่า...นั่นนกอะไรนะ พวกตอบมาว่า..."นกสิว่ะ" ... "หา !!! นกอะไรนะ"...."ชู่ว์...เงียบ ๆ นกสิว่ะ"...@#$%^&*!....มาเปิดหนังสือดูในตอนหลังก็พบว่านกตัวนี้ชื่อว่า "นกศิวะปีกสีฟ้า" ครับ...
18 ... นกที่เคยพบเห็นแล้ว ก็พบเห็นอีก... "นกนิลตวาใหญ่" เพศผู้
และเพศเมียครับ...
ตัวที่ 20 ... นกจับแมลงคอน้ำตาลแดง หรือรู้จักกันในชื่อ Hill blue Flycatcher ถ้ามานั่งดูพฤติกรรมของนกประเภทนี้แล้ว...จะรู้สึกสงสารครับ เพราะเจ้าตัวนี้เป็นนกตัวเล็กและกลัวนกประเภทอื่น ๆ พอควร ตราบใดที่บริเวณนั้นมีนกตัวใหญ่กว่าอยู่แล้วละก็ เจ้าตัวเล็กนี่จะบินอยู่รอบ ๆ และใช้วิธีโฉบเข้ามาโดยเร็ว ถ้ามัวแต่ชักช้าอยู่...จะโดนตัวอื่นโผเข้ามาตีครับ...
ใกล้จบแล้วครับ...อดทนหน่อย... นกพื้น ๆ ที่อยู่กันเป็นฝูงครับ...ปรอด....โอ่งเมืองเหนือ
ตัวที่ 22 ... ถ้าไปดอยอินทนนท์แล้วนกตัวนี้แทบจะเดินเหยียบเท้าเราเลยครับ ที่อ่างขางนี้ถึงจะมีไม่มากเท่า แต่ก็มีให้เห็นไม่น้อยเช่นกัน นกกะรางหัวแดง...
ตัวที่ 23 ... เกือบสุดท้ายแล้วครับ ไม่น่าเชื่อว่านกตัวนี้จะเป็นนกรับแขกที่ดอยลางครับ พวกจะมาปลุกถึงหน้าเต็นท์ก็ว่าได้...แต่ที่นี่...ดอยอ่างขาง ผมถือว่าผมได้มาอย่างฟลุคที่สุด เพราะไม่คาดคิดว่าจะพบจะเจอในระยะใกล้ชิดปานนี้..."นกกะรางแก้มแดง"
ตัวสุดท้าย...ตัวที่ 24 สองโหลพอดี...อิอิ "นกหัวขวานด่างหัวแดงอกลาย" (ชื่อยาวไปหน่อยครับ) บังเอิญที่เจ้านกตัวนี้มาเกาะตรงหน้า ช่วงระยะแค่ข้ามถนนเท่านั้น ส่งท้ายปิดนกแห่งดอยอ่างขางทริปนี้ของผมไปอย่างสดชื่นครับ...
จริง ๆ แล้วที่ดอยอ่างขาง หรือดอยอะไรก็ตามนะครับ นก...มีอยู่ทั่วไป ไม่ได้มีอยู่เท่าที่ผมเห็นหรือใคร ๆ เห็นเท่านั้น การที่เราไม่เห็นไม่ได้หมายความว่า เขาหรือเธอนั้นไม่มีตัวตนอยู่...เพียงแต่เราหาเขาหรือเธอไม่พบ ไม่เจอ ไม่เห็นเท่านั้นเองครับ...หากมีเวลาเงียบ ๆ นิ่ง ๆ ... ลองนั่งสังเกต นั่งดู นั่งฟังสิครับ...แล้วเราจะพบเห็น ค้นพบกับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ...
ขอขอบคุณพันทิปสำหรับ 700k ใหม่ ครับ...ไฟล์นกผมไม่แตกอีกแล้ว ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามลงมาถึงโพสต์นี้...ขอบคุณ...ทุกคอมเม้นท์ ทุกไลค์ ทุกพลัสที่ให้ไว้ ขอบคุณครับ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น